กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้รายงานความคืบหน้าโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์ไทย–ต่างประเทศ ซึ่งเป็นการใช้วรรณกรรมเชื่อมสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอาเซียน ตามแผนการดำเนินงานรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เนื่องจากมองว่านอกจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจแล้ว เรื่องวัฒนธรรม นับเป็นความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง จึงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงเล็งประโยชน์ของงานวรรณกรรมในการเป็นสื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจระหว่างประเทศอาเซียน เนื่องจากผลงานวรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว ช่วยในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันนำไปสู่การรู้เขารู้เรา โดยไม่ต้องเจรจา
นายวีระ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้เริ่มดำเนินโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์ไทย–ต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเผยแพร่วรรณกรรมไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้านในเครืออาเซียน และเพื่อเป็นการเรียนรู้จากเพื่อนบ้านไปพร้อมกัน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางด้านวรรณกรรม อันจะเป็นช่องทางให้ความสัมพันธ์อันดีด้านอื่นๆ ตามมา โดยคัดสรรเรื่องสั้นและบทกวี ทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีเนื้อหาเผยแพร่เรื่องราวของ วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อระหว่างกันอย่างไร้พรมแดน ส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีในหมู่นักเขียนและประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน ผ่านพื้นที่ทางวรรณกรรมนำมาแปลเป็น3 ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาเพื่อนบ้านและภาษาอังกฤษ และจัดพิมพ์เผยแพร่ในเล่มเดียวกัน
รมว.วธ. กล่าวว่า ทั้งนี้ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาคมนักเขียนของประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากประเทศกัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และอินโดนีเซีย และได้เผยแพร่ไปยังนักเขียน นักแปล ห้องสมุด สถาบันการศึกษา กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศต่อไป ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดทำวรรณกรรมสัมพันธ์เสร็จแล้ว 5 เล่ม 5 ประเทศ ได้แก่ วรรณกรรมสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชา วรรณกรรมสัมพันธ์ ไทย-มาเลเซีย วรรณกรรมสัมพันธ์ ไทย-เวียดนาม วรรณกรรมสัมพันธ์ ไทย-ลาว และวรรณกรรมสัมพันธ์ ไทย–อินโดนีเซีย ในระยะต่อไปก็จะดำเนินการให้ครบทั้ง 10 ประเทศ