กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ซีพี ออลล์
มูลนิธิคนดี (ประเทศไทย) และสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จัดพิธีมอบรางวัล โครงการ "คนดี ประเทศไทย" ปีที่ 7 เพื่อเชิดชูยกย่องคนดีและสร้างขวัญกำลังใจให้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมต่อไป
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวว่า บริษัทฯ มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับ มูลนิธิคนดี(ประเทศไทย) และสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย จัดโครงการมอบรางวัล "คนดี ประเทศไทย" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อจุดประกายให้ผู้คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการทำความดี และชี้ให้เห็นว่าการทำความดีเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าภาคภูมิใจ ควรจะเชิดชูให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม การทำความดีเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา สถานที่ เพศ อายุ อาชีพ ฐานะ ซึ่งในสังคมนี้มีคนที่เป็นคนดีอยู่มากมาย แต่บุคคลที่ลงมือทำความดี ด้วยความทุ่มเท เสียสละ กล้าหาญ เพื่อสังคมและส่วนร่วมโดยไม่คิดถึงผลตอบแทน ดังเช่น คนดีที่ได้รับรางวัลในวันนี้ เป็นเรื่องที่น่ายกย่องเชิดชูเป็นอย่างยิ่ง จึงขอถือโอกาสนี้แสดงความชื่นชมและยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้จะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญให้ทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป และสร้างความตระหนักในเรื่องการทำความดีให้แก่สังคมมากขึ้น
นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ ประธานมูลนิธิคนดี (ประเทศไทย) และนายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รางวัลคนดีประเทศไทย ปีที่ 7 จัดขึ้นเพื่อเชิดชู ส่งเสริม สร้างขวัญกำลังใจให้คนดี ทำความดีและเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อสังคมต่อไป โดยพิจารณาบุคคลที่ทำความดี ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ เอื้ออารี กตัญญู โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ซึ่งในปีนี้ มีผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 3 ท่าน ล้วนแต่เป็นคนดีที่มีประวัติชีวิตน่าสนใจ อุทิศตนสร้างคุณประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมไทย และยังเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมาย โดยผู้ที่ได้รับรางวัล "คนดี ประเทศไทย" ปีที่ 7 ทั้งหมดมี 3 ท่านได้แก่ 1.นายไพโรจน์ จันทะวงษ์ ครูผู้สอนลูกคนงานชาวไทยและชาวต่างด้าวตามแคมป์คนงานก่อสร้างให้มีความรู้ ไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ 2.นายเดชา ด้วงชนะ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) หลักสี่ (น้องสาวรับรางวัลแทน) ผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงไหม้อาคารธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ 3.นางสาวทับทิม อามาระดิษ (ครูแม๊ะ) ผู้ช่วยครูศูนย์เด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
โดยนายไพโรจน์ จันทะวงษ์ วัย 52 ปี เป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้อาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นครูเร่ร่อนสอนลูกคนงานชาวไทยและชาวต่างด้าวตามแคมป์คนงานก่อสร้างย่านวัดเสมียนนารี หลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแคมป์ของบริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัดที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยไม่หวังค่าตอบแทนใดๆ ถือเป็นบุคคลตัวอย่างที่น่ายกย่องให้เป็นต้นแบบคนดีในสังคม สำหรับในแคมป์นี้จะมีศูนย์เด็กเล็กลูกคนงานก่อสร้าง ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกแรงงานต่างด้าว ครูไพโรจน์มองเห็นถึงปัญหาระยะยาวจากการที่เด็กไม่ได้รับการศึกษา หากโตไปอาจเลือกเส้นทางชีวิตที่ไม่ถูกต้อง จึงเริ่มสอนหนังสือให้เด็กเหล่านี้มาตั้งแต่ 10 ปีก่อน หวังให้การศึกษาจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้ ฉลาด คิดเป็น และรู้ทันต่อการถูกล่อลวง ไม่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ สร้างเงิน สร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัวต่อไป
นายเดชา ด้วงชนะ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) หลักสี่ (น้องสาวรับรางวัลแทน) ผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงไหม้บนชั้น 10 และ 11 ของอาคารธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารัชโยธิน กรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา นายเดชา ด้วงชนะ เป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) วัย 35 ปี ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการชุดแรกที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากต้องเดินขึ้นไปในอาคารที่มืดและมีควันอยู่เต็มอาคารซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก ทำให้ต้องจบชีวิตลงเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากออกซิเจนในถังที่ถือขึ้นไปไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ล่วงลับเป็นคนดี มีความเสียสละอย่างสูง ทุ่มเทในการทำงาน พร้อมไปช่วยเหลือผู้เดือนร้อนในทุกจุดทุกเหตุที่ได้รับแจ้ง แม้แต่เรื่องช่วยแมว ช่วยสุนัข ซึ่งการเสียชีวิตได้สร้างความโศกเศร้าให้ครอบครัวและเพื่อนร่วมงานอย่างมากในการทำหน้าที่จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เป็นความภาคภูมิใจและยังเป็นต้นแบบที่ดีให้เพื่อน อปพร. คนอื่นๆ ได้อย่างดี สำหรับการจากไปของนายเดชา ด้วงชนะในครั้งนี้ มีประชาชนเข้าไปเขียนไว้อาลัยการจากไปของ ฮีโร่ อปพร.ผู้นี้เป็นจำนวนมาก
นางสาวทับทิม อามาระดิษ (ครูแม๊ะ) ผู้ช่วยครูศูนย์เด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เด็กสาวที่มาจากครอบครัวยากจน พ่อแม่แยกทางกัน มีพี่น้อง 6 คน แม่ไปมีครอบครัวใหม่ น้อง 4 คนอยู่ในความดูแลของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ครูแม๊ะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้บกพร่องและช้า แต่ก็สามารถจบชั้น ม.3 ปัจจุบันกำลังศึกษา กศน.ระดับ ม.5 และทำงานเป็นผู้ช่วยครูมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก หน้าที่หลักคือดูแลเด็กเล็กที่อยู่ประจำเรื่องอาบน้ำ เสื้อผ้า ส่ง-รับไปโรงเรียน สอนการบ้าน ฯลฯ เมื่อสองปีก่อนเคยมาทำกิจกรรมกับเด็กที่ติดตามครอบครัวมาชุมนุมทางการเมืองที่สวนลุมพินี เมื่อการชุมนุมเสร็จสิ้นได้มาเป็นผู้ช่วยครูเต็มตัว ณ โครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กนานาชาติ มีทั้งเด็กไทย พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ตั้งใจเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นความสุขของตนเองจากการที่ได้สอนหนังสือและรู้สึกภูมิใจที่มอบความรู้เป็นประโยชน์กับเด็กๆ สำหรับการพัฒนางานผู้ช่วยครูให้มาช่วยงานของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เป็นนโยบายที่ต้องการให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสเป็นเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือเด็กโดยตรง เพราะพวกเขาเหล่านี้จะเข้ากับเด็กได้ดีเพราะเคยเป็นกลุ่มเด็กเร่ร่อน เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างมาก่อน