กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) รุก สร้างมาตรฐานอาชีวะ พัฒนาแรงงานมีฝีมือ รองรับการเปิดเสรีอาเซียน ร่วมมือกับหน่วยงานการประเมินและจัดการศึกษาแห่งไต้หวัน (Taiwan Assessment and Evaluation Association) พัฒนารูปแบบการประเมินด้านอาชีวศึกษาให้เป็นมาตรฐาน วิธีการจัดการเรียนการสอน วิธีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานวิจัย และสร้างมาตรฐานการจัดการเรียนการสอน ฯลฯ หวังยกระดับมาตรฐานการอาชีวะของไทยให้เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอาชีวะ จำนวน 751 แห่ง และมีนักศึกษาทั้งหมด จำนวน 213,373 คน สอดคล้องกับผลการศึกษาของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาที่พบว่า สถิติในปีการศึกษา 2557-2558 สัดส่วนผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพเท่ากับ 71 : 29 ซึ่งข้อมูลจากกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ระบุว่า อุตสาหกรรมหลักของไทยต้องการแรงงานสายช่างประมาณปีละ 1.8 แสนคน ในขณะที่ผู้จบอาชีวศึกษาแต่ละปีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตนักเรียนนักศึกษาสายอาชีพได้เพียง 20,000 คน ต่อปี โดยตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมามีการปรับตัวบ่งชี้ให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดย ตัวบ่งชี้ดังกล่าว เป็นไปเพื่อสะท้อนความต้องการด้านการเรียนรู้และทักษะฝีมือ เพื่อตอบสนองต่อภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรม และจากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 พบว่า สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาทั้งหมด 779 แห่ง ได้รับการประเมินแล้ว 748 แห่ง และได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษา จำนวน 606 แห่ง คิดเป็น 81.02% โดยมีสถานศึกษาที่มีผลการประเมินระดับดีมาก จำนวน 75 แห่ง คิดเป็น 10.03% และ มีสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 142 หรือ 18.98%
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ล่าสุด ในปี 2558 สมศ. ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานการประเมินและจัดการศึกษาแห่งไต้หวัน (Taiwan Assessment and Evaluation Association) เรื่องความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีความร่วมมือด้านการจัดการอาชีวศึกษาร่วมกันและพัฒนารูปแบบการประเมินด้านอาชีวศึกษาให้เป็นมาตรฐาน วิธีการจัดการเรียนการสอน วิธีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานวิจัย และสร้างมาตรฐานการจัดการเรียนการสอน ฯลฯ ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือด้านการประกันคุณภาพภายนอกกับไต้หวันแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับประเทศญี่ปุ่น เรื่องกรอบมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกร่วมกัน เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการอาชีวะของไทยให้เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่www.onesqa.or.th