กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--อพวช.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) และกลุ่มบริษัทบี.กริม จัดพิธีเปิดเทศกาล "วันนักวิทยาศาสตร์น้อย" ประเทศไทย ประจำปี 2558 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์จามจุรี ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – สิงหาคม ศกนี้ ภายใต้หัวข้อ "ท่องโลกกาลเวลา" เน้นการเรียนรู้เรื่องเวลาผ่านกิจกรรมประจำวัน เพื่อบ่มเพาะการสังเกตและตั้งคำถามพื้นฐานเบื้องต้นของการเป็นนักวิทยาศาสตร์
นางเพียงใจ วิศรุตรัตน ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนที่มีคุณภาพ คิดเป็น ทำเป็น ซึ่งจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ การที่โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยได้นำแนวคิดจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม แล้วนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างคน ทั้งการสร้างครู และสร้างเยาวชนที่รู้จักการเรียนรู้ ในส่วนของกรุงเทพมหานครเอง ก็ได้นำโรงเรียนอนุบาลในสังกัดเข้าร่วมโครงการ โดยการส่งครูเข้าร่วมอบรมกระบวนการเรียนการสอนกับวิทยากรหลัก และถ่ายทอดต่อไปยังเครือข่าย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" ประเทศไทย ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีมาก เด็กๆ เกิดความสนุกสนาน รู้จักคิด สังเกต และตั้งคำถามจากสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการประเมินระดับนานาชาติ เช่น Programme for International Student Assessment : PISA พบว่า ความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ และประเทศไทยยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จากปัญหาดังกล่าว มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และบริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด จึงได้นำ โครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" จากประเทศเยอรมนี ซึ่งสามารถขยายฐานการศึกษาไปสู่โรงเรียนอนุบาลได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น แต่ยังคงรักษามาตรฐานไว้ได้อย่างดีมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2553 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเพียง 221 โรงเรียน ต่อมาในปี 2556 มีการกำหนดให้ช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคมของทุกปีเป็นวันเทศกาล "วันนักวิทยาศาสตร์น้อย" ประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดเป็นหัวข้อกิจกรรมเสริมเพิ่มเติมจากกิจกรรมหลักของโครงการซึ่งมีการจัดตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นให้ครูเกิดความตื่นตัว และสร้างสีสันในการทำกิจกรรม ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก ทำให้สามารถขยายฐานการเรียนรู้จากในปีแรก 221 โรงเรียน กลายเป็น 15,000 โรงเรียน ภายในระยะเวลา 5 ปี
โดยในปีนี้ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จึงได้กำหนดจัดเทศกาล "วันนักวิทยาศาสตร์น้อย" ประเทศไทย ประจำปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไปในหัวข้อ "ท่องโลกกาลเวลา" เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจวัตรประจำวันของเด็กปฐมวัย โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ฐานประกอบด้วย ฐานกิจกรรม ค้นพบเวลา เน้นให้เรียนรู้เรื่องเวลาผ่านกิจกรรมประจำวัน ความรู้สึกกับเวลา รวมถึงรู้จักกับนาฬิกาแบบต่าง ๆ ฐานกิจกรรม เวลาและตัวฉัน เน้นการเรียนรู้เรื่องเวลาการร่างกายของเรา การเจริญเติบโตของร่างกาย แผนผังครอบครัว ฐานกิจกรรม เวลาและธรรมชาติ เน้นการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป สัตว์หากินในกลางวันกับกลางคืน รวมถึงพืชกับการเจริญเติบโต และฐานกิจกรรมสุดท้าย ฐานกิจกรรม เวลาและเทคโนโลยี เน้นให้เห็นความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีกับการทุ่นเวลา หลายคนอาจจะคิดว่า สิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างเวลา อาจจะยากเกินไปสำหรับเด็กปฐมวัย นี่คือความตั้งใจของโครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" ที่ต้องการสื่อให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์คือทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา การนำสิ่งรอบตัวมาทำให้เข้าใจง่ายและสนุกด้วยกิจกรรมแบบลงมือปฏิบัติ จะทำให้เกิดทัศนคติที่ดี เกิดการอยากเรียนรู้ และกลายเป็นนิสัยที่ชอบเรียนรู้ สังเกต รู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวต่อไป
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. มีความยินดีเป็นอย่างยิงที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" ประเทศไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโครงการฯ ส่วนเทศกาล"วันนักวิทยาศาสตร์น้อย"ประเทศไทย จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2556 ในหัวข้อ ดิน น้ำ ลม ไฟ ต่อมาปี 2557 จัดในหัวข้อ "ความลับของตัวฉัน" และในปี 2558 นี้ก็จัดในหัวข้อ "ท่องโลกการเวลา" หากพิจารณาหัวข้อในแต่ละปีจะเห็นว่าเทศกาล "วันนักวิทยาศาสตร์น้อย" จะหยิบยกเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมาให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทำกิจกรรม ให้เกิดความสนุกและปลูกฝั่งให้รู้จักกับการสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวและตั้งคำถาม มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า เด็กวัยอนุบาล (3 – 6 ปี) มีความสามารถในการเรียนรู้และการจดจำสูงสุดเป็นวัยที่จะต้องวางรากฐานที่ดี หากเราปลูกฝังความรักความประทับใจในวิทยาศาสตร์ ก็จะง่ายต่อการพัฒนากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของชาติต่อไป สำหรับปีนี้ อพวช. ยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในการจัดกิจกรรมเทศกาล "วันนักวิทยาศาสตร์น้อย" ประเทศไทย โดยจัดกิจกรรม 4 ฐานตามคู่มือกิจกรรม โดยเด็กๆจะได้ "ท่องโลกการเวลา" จากการทดลองเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแบบสนุกสนาน ซึ่งจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำการทำกิจกรรม โดยจัดกิจกรรมขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี อพวช. และคู่มือนี้ อพวช. ได้ดำเนินการจัดทำขึ้นและจัดส่งให้เครือข่ายของโครงการเพื่อส่งคู่มือให้กับโรงเรียนในโครงการที่ผ่านการอบรมเรียบร้อยแล้วทุกโรงเรียนทั่วประเทศ และจะมีการกำหนดหัวข้อใหม่ในทุกๆปี
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมพิธีเปิดเทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2558 ในภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดหนองคาย ดำเนินงานโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคตะวันออก ณ จังหวัดสระแก้ว ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา ดำเนินงานโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียดและดาวน์โหลดคู่มือกิจกรรม โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ สมุดพาสปอร์ตและเกียรติบัตร ได้จาก www.littlescientishouse.com และ