กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดการประชุมนานาชาติ ASEAN+3 Organic Agriculture Forum ในระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ หวังเพิ่มโอกาสความร่วมมือในด้านงานวิจัยเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ในอนาคต
ดร.ชุลีรัตน์ บรรจงลิขิตกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. กล่าวชี้แจงว่า การประชุมนานาชาติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอภาพรวมสถานการณ์การผลิตเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวกับระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศอาเซียน +3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อีกทั้งก่อให้เกิดเวทีเสวนาถึงปัญหาในด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ในแต่ละประเทศ รวมถึงมาตรฐานที่เหมาะสมของสินค้าในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เพิ่มโอกาสความร่วมมือในด้านงานวิจัยของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ในอนาคต
อนึ่ง ระบบเกษตรอินทรีย์เป็นระบบการจัดการการผลิตทางการเกษตรแบบองค์รวม มุ่งเน้นส่งเสริม และให้ความสำคัญกับระบบนิเวศน์ทางการเกษตร อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรธรรมชาติ และกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน ที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ผสมผสานกับการใช้วิธีการต่างๆ อาทิเช่น องค์ความรู้พื้นบ้าน นวัตกรรม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ผลิตผลทางการเกษตร โดยอาศัยจุลินทรีย์ที่มีในธรรมชาติ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร
ภายหลังการรวมตัวกันของสิบประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ละประเทศจัดเป็นหนึ่งตลาดและหนึ่งฐานการผลิตสินค้าเกษตร ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์จะอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนกำหนดขึ้น โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางอาหาร และความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลก กลุ่มประเทศอาเซียนควรต้องร่วมมือกันพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยสนับสนุน เพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่การผลิตของผลิตผลทางเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงร่วมกันพัฒนาร่างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Standard for Organic Agriculture :ASOA) ซึ่งจะมีผลบังคับต่อประเทศผู้ค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระยะเวลาอันใกล้นี้