กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป
มร. ซีซาร์ บาดิลย่า ผู้อำนวยการฝ่ายบริการหลังการขาย (ที่ 8 จากซ้าย) นายจตุพล พุทธวิบูลย์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (ที่ 6 จากซ้าย) และนายวิชิต ตั้งวงศ์ชื่นสุข ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรม (ซ้ายสุด) บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ จักษุเวช ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย (ที่ 7 จากซ้าย) มอบประกาศนียบัตรรับรองด้านเทคโนโลยีงานช่าง Mechanical Power Technology ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโครงการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ หรือ BMW Service Apprentice Program รุ่นที่ 2 โดยมี นายอรรถพล สังขวาสี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร (ที่ 8 จากขวา) พร้อมด้วยคณาจารย์และคณะผู้บริหารเข้าร่วม ณ ศูนย์ฝึกอบรมบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย
จังหวัดปทุมธานี
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย มอบประกาศนียบัตรรับรองด้านเทคโนโลยีงานช่างMechanical Power Technology ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโครงการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ หรือ BMW Service Apprentice Program รุ่นที่ 2 จำนวน 20 คน พร้อมส่งมอบเครื่องยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ทวินพาวเวอร์เทอร์โบ ดีเซล 4 สูบ ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาในชั้นเรียน
โครงการ BMW Service Apprentice Program เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการศึกษาระบบทวิภาคีเยอรมัน-ไทย (German-Thai Dual Excellence Education (GTDEE) program) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างทั้งสองประเทศ โดยบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย และผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยูอย่างเป็นทางการ อบรมความรู้และฝึกฝนทักษะใน สายงานด้านช่างเทคนิคให้แก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ด้านทฤษฎีแล้ว ยังรวมถึงการอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมของบีเอ็มดับเบิลยู และร่วมปฏิบัติงานกับช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญจากผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยูอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบอาชีวศึกษาของไทย เพื่อสร้างแรงงานฝีมือที่เปี่ยมด้วยทักษะและความสามารถระดับสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศถึงระดับสูงสุด และขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านศูนย์กลางการผลิตยนตรกรรมระดับโลก
มร. ซีซาร์ บาดิลย่า ผู้อำนวยการฝ่ายบริการหลังการขาย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า "โครงการ BMW Service Apprentice Program เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ในการเป็นองค์กรสมาชิกที่ดีของสังคมไทย ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างยั่งยืนแล้ว นักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมนี้จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการบริการหลังการขายของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และเครือข่ายผู้จำหน่ายของเราที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมนี้จะเป็นกำลังทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เพราะได้ผ่านการฝึกฝนทักษะทางเทคนิคและประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติงานจริง จึงได้รับการยอมรับจากทั้งผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการของบีเอ็มดับเบิลยูและบริษัทข้ามชาติต่างๆในประเทศไทย ในปีนี้ นักศึกษาที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการฯ รุ่นที่ 2 ทั้ง 20 คน จะได้เข้าร่วมงานกับผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษา เช่นเดียวกับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา"
ในปี 2558 นี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ยังได้มอบเครื่องยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ทวินพาวเวอร์เทอร์โบ ดีเซล 1995 ซีซี 4 สูบ ซึ่งใช้ในรถยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูรุ่นที่มีความโดดเด่นอย่าง บีเอ็มดับเบิลยู 520d ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ส่วนประกอบและกลไกการทำงานจากเครื่องยนต์จริงของรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูในรุ่นปัจจุบันอีกด้วย
นายพงษ์ศักดิ์ จักษุเวช ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่โครงการการศึกษาระบบทวิภาคีเยอรมัน-ไทย ได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ภายใต้โครงการ BMW Service Apprentice Program นอกจากจะช่วยสร้างเสริมศักยภาพของนักศึกษา อันจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรอย่างมีคุณภาพให้แก่อุตสาหกรรม ยังตอบเจตนารมณ์ของหอการค้าเยอรมัน-ไทย ในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย และยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีอีกด้วย"
"บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ยังคงสนับสนุนโครงการ BMW Service Apprentice Program อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาขึ้นในทุกๆ ปี ทั้งการเพิ่มจำนวนนักศึกษาและการขยายเครือข่ายโรงเรียนอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษามาตรฐานระดับสูงของการให้บริการเชิงเทคนิค ควบคู่กับการนำเสนอโปรแกรมบริการหลังการขายแบบพิเศษต่างๆ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าบีเอ็มดับเบิลยูทุกท่าน" มร. ซีซาร์ กล่าวเสริม
โครงการการศึกษาระบบทวิภาคีเยอรมัน-ไทย (German-Thai Dual Excellence Education (GTDEE) program) นี้ ได้รับการพัฒนาโครงการมาจากประเทศเยอรมนี และด้วยความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม โครงการศึกษาระบบทวิภาคนี้จึงได้รับการนำไปใช้ในหลายๆประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยทางหอการค้าไทยเยอรมัน (GTCC) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และกลุ่มบริษัทที่ร่วมริเริ่มโครงการนี้ ได้แก่ กลุ่มบริษัท บี กริมม์, บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และ บริษัท โรเบิร์ต บอช จำกัด ทั้งนี้โครงการการศึกษาระบบทวิภาคี GTDEE ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการและสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย