กรุงเทพ--13 ก.พ.--การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้จัดการอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ตลอดจนความปลอดภัยในการใช้ทางด่วนที่เปิดให้บริการแล้ว
การทางพิเศษฯ ได้จัดหน่วยบริการและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ จำนวนมากไว้คอยบริการผู้ใช้ทางด่วน คือ
พนักงานกู้ภัย เป็นพนักงานที่มีหน้าที่ในการตรวจตราดูแลความเรียบร้อยบนทางด่วน เพื่อให้เปิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ และให้ความช่วยเหลือในกรณีที่มีเหตุขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนรวมทั้งช่วยเหลือปฐมพยาบาลและนำผู้บาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ในการปฏิบัติงานของพนักงานกู้ภัยจะออกตระเวนตรวจดูความเรียบร้อยเป็นระยะ ๆ ทุกเส้นทางของทางด่วนตลอด 24 ชั่วโมง กรณีเกิดอุบัติเหตุพนักงานกู้ภัยจะเข้าไปถึงจุดที่เกิดอุบัติเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือภายใน 15 นาที
พนักงานจัดการจราจร เป็นพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการจราจรในเขตทางพิเศษ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณทางขึ้น-ลง และบริเวณที่มีการจราจรคับคั่งหรือจุดที่อาจมีอันตราย ในกรณีที่พบผู้ขับขี่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พนักงานจัดการจราจรสามารถที่จะว่ากล่าวตักเตือน หรือเรียกใบขับขี่เพื่อนำส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกใบสั่ง หรือนำส่งให้สถานีตำรวจดำเนินการต่อไปได้
โทรศัพท์ฉุกเฉิน เป็นโทรศัพท์ที่ติดตั้งอยู่บนขอบทางด้านซ้ายของทางด่วนที่เปิดให้บริการทุกโครงการ โดยในระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ติดตั้งไว้ทุก ๆ ระยะ 1 กม. มีจำนวนทั้งสิ้น 51 จุด ระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ติดตั้งไว้ทุก ๆ ระยะ 1 กม. มีจำนวนทั้งสิ้น 58 จุด และระบบทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ ได้ติดตั้งไว้ทุก ๆ ระยะ 500 เมตร มีจำนวนทั้งสิ้น 72 จุด กรณีที่มีผู้ใช้บริการประสงค์ขอความช่วยเหลือก็เพียงแต่ยกหูโทรศัพท์ สัญญาณจะปรากฎที่ศูนย์ควบคุมซึ่งจะรู้ได้ทันทีว่ามีเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุที่จุดใด
โทรทัศน์วงจรปิด ได้มีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดบนทางด่วนเป็นระยะ ๆ ตลอดแนวเส้นทางของทุกสาย เพื่อให้เห็นสภาพการจราจรบนทางด่วนตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น ผู้ใช้ทางจึงไม่ต้องกังวลว่า หากมีเหตุขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนในยามค่ำคืนแล้วจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ป้ายสัญญาณปรับได้ เป็นป้ายสัญญาณไฟที่ติดตั้งอยู่เกาะกลางของทางด่วนเป็นระยะ ๆ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ปรากฎบนป้ายสัญญาณดังกล่าวจะเป็นตัวเลขความเร็วที่ควรใช้บนทางด่วนกรณีฝนตก หรือมีหมอกหนาแน่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังแสดงเป็นสัญลักษณ์บอกช่องทางวิ่งทั้ง 3 ช่องว่าเปิดหรือปิด เช่น รูปตัวไอ แสดงว่าเปิด ถ้าเป็นตัวที แสดงว่าปิด ทั้งนี้เพื่อเป็นการแจ้งหรือเตือนให้ผู้ใช้ทางทราบล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ
ป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ เป็นป้ายแสดงข้อมูลที่ต้องการให้ผู้ใช้บริการทราบ สามารถปรับเปลี่ยนข้อความได้ทันทีที่ต้องการ โดยการใส่ข้อมูลและควบคุมการทำงานที่ศูนย์ควบคุมโดยตรง
ในการนี้ การทางพิเศษฯ ขอเตือนผู้ใช้บริการทางด่วนทุกท่านโปรดใช้ความระมัดระวังในการขับรถ อีกทั้งให้ตรวจสอบสมรรถนะเครื่องยนต์ รวมทั้งส่วนอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยและประหยัดเวลาในการสัญจรบนทางด่วน--จบ--