กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ชี้เกิดการตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานแล้ว 354 อาคาร เกิดศักยภาพการประหยัดพลังงานกว่า 172 ล้านหน่วย คิดเป็นผลประหยัดได้สูงถึง 602 ล้านบาท และลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุภาวะโลกร้อน เกือบ 1 แสนตันคาร์บอน
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า จากที่ พพ. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2552 หรือ Building Energy Code ซึ่งเบื้องต้นได้ดำเนินงานผลักดันให้ภาครัฐ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการออกแบบอาคารเพื่อการประหยัดพลังงาน เพื่อให้เป็นตามเจตนารมย์ของกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว โดยกำหนดให้อาคารใหม่ที่มีขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีการออกแบบอาคารให้มีการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากความร่วมมือตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2552 ถึงปัจจุบัน มีอาคารภาครัฐและเอกชน ได้ส่งแบบอาคารมาให้ พพ. ตรวจประเมินแบบไปแล้วทั้งสิ้น 354อาคาร แบ่งเป็นอาคารภาคเอกชน 53 อาคาร และอาคารภาครัฐ 301 อาคาร ซึ่งได้ทำให้เกิดศักยภาพด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร โดยเกิดผลประหยัดไฟฟ้าได้สูงถึงประมาณ 172 ล้านหน่วย คิดเป็นผลประหยัดได้ 602 ล้านบาท รวมทั้งยังได้ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนได้สูงถึง 1 แสนตันคาร์บอนอีกด้วย
นอกจากนี้ พพ. จะได้เตรียมแผนงานในส่วนของผลักดันมาตรการต่างๆ ตามกฎกระทรวง ฯ นี้ ได้แก่ ความร่วมมือกับกรมโยธิการและผังเมือง ในการแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อให้สามารถบังคับใช้ในอาคารภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินการตรวจสอบสถานภาพอาคารที่ได้รับการตรวจประเมิน และรับรองอาคารแล้ว เพื่อติดตามสถานภาพการก่อสร้างว่าเป็นไปตามที่ได้รับรองหรือไม่ รวมทั้งจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน ไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เพิ่มเติม
นายธรรมยศ กล่าวเพิ่มว่า แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานนั้น พพ. ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน ไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันการศึกษานำร่องแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง