กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 เผยผลการประเมินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี 13 โครงการ เกษตรกรพึงพอใจมากต่อโครงการที่ภาครัฐสนับสนุน เพิ่มรายได้ช่วงหน้าแล้ง และได้รับประโยชน์โดยตรง
นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท. 8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ทั้งหมด 13 โครงการ โดยสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม รวม 32 ราย ผู้นำกลุ่มเกษตรกร 13 ราย และเกษตรกรที่เป็นแรงงานจ้างในโครงการอีกโครงการละ 5 ราย
จากการประเมิน พบว่า พื้นที่ดำเนินการโครงการส่วนใหญ่มีปัญหาใน 2 ลักษณะ คือ มีปัญหาคูคลองตื้นเขิน คลองสายหลักของชุมชนไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ ขาดแคลนน้ำและแหล่งน้ำในการทำการเกษตร เกษตรกรขาดความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับการผลิต ราคาปุ๋ยเคมีค่อนข้างสูง ดังนั้น การจัดทำโครงการของชุมชนจึงเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ ร้อยละ 35 ต้องการลดหรือบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่ชุมชนต้องประสบ ร้อยละ 32 ต้องการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในช่วงฤดูแล้ง และร้อยละ 32 พัฒนาการเกษตรหรือเพิ่มทางเลือกในการผลิตทางการเกษตรให้แก่ชุมชน เช่น ทำปุ๋ยใช้เองได้ในชุมชน โดยขั้นตอนในการเสนอโครงการนั้นเกษตรกรในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการของโครงการตั้งแต่การเตรียมการ การวิเคราะห์ชุมชน การจัดเวทีชุมชน การเสนอขอโครงการ และการดำเนินงานโครงการ ซึ่งเกษตรกรสามารถแสดงความคิดเห็นและได้เสนอขอโครงการที่สำคัญและตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ผู้นำกลุ่ม/เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการได้รับการสนับสนุนโครงการจากภาครัฐมาก เพราะนอกจากชุมชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการที่ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มในช่วงหน้าแล้งแล้ว ชุมชนยังได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการมีส่วนร่วมในการทำงานเกิดความสามัคคีและเข้าใจถึงการพัฒนาร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ด้านความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 หน่วยงาน มีความเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีควรดำเนินการต่อเนื่องทุกปี และมีอีกหลายตำบลที่มีปัญหาภัยแล้งแต่ไม่มีงบประมาณช่วยเหลือ รวมทั้งควรมีการพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรมีแนวความคิดการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ โดยเน้นเรื่องการรู้จักหาตลาดและสร้างเครือข่าย เกษตรกรที่มีอาชีพคล้ายกันหรือประเภทเดียวกันและทำอาชีพให้ครบวงจร เช่น สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้นำกลุ่มมีความเห็นว่าควรมีงบประมาณในการทำฝายเก็บน้ำเพิ่มเติมหลังจากการขุดลอกคลองเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่แล้งมากขึ้น และกลุ่มเกษตรกรที่ถูกจ้างงานในโครงการมีความเห็นว่าอยากให้มีโครงการต่อเนื่องเพราะเกษตรกรได้ประโยชน์โดยตรง โดยเพิ่มงบประมาณและกลุ่มเป้าหมาย อยากขุดลอกคลองให้ลึกและขยายพื้นที่ให้มากกว่านี้ และเพิ่มจุดที่ทำฝายให้ถี่ขึ้นเพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ และปล่อยปลาในคลองธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน