ทริสเรทติ้งทบทวนอันดับเครดิตองค์กร “ทีพีไอ โพลีน” ที่ “BBB-/Positive”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 10, 2005 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) ที่ระดับ “BBB-” พร้อมปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น สถานะการเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ และความเป็นผู้นำในการผลิตเม็ดพลาสติก Low Density Polyethylene (LDPE) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนโดยวัฏจักรของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และปิโตรเคมี ภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูง และการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขของผู้ตรวจสอบบัญชีต่องบการเงินในเรื่องยอดหนี้ทั้งหมดของบริษัท จากรายงานของผู้สอบบัญชี บริษัทได้บันทึกหนี้สินซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยผิดนัดชำระค้างจ่ายสูงกว่าภาระหนี้ที่บริษัทย่อยต้องจ่ายชำระภายใต้สัญญาหลักในการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม ยอดหนี้ที่เจ้าหนี้บางรายได้ยื่นขอรับชำระหนี้มีจำนวนสูงกว่ายอดที่บันทึกบัญชีของบริษัท ดังนั้น การจัดอันดับเครดิตในครั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับคำกล่าวอ้างของผู้บริหารของบริษัทที่ระบุว่ายอดหนี้ที่ต่างกันระหว่างเจ้าหนี้กับบริษัทเกิดจากวิธีการคำนวณดอกเบี้ยที่ต่างกัน ซึ่งหากยอดหนี้ดังกล่าวมีความแตกต่างจากที่บริษัทระบุไว้ ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นหลังจากที่บริษัทสามารถระดมทุนได้ 11,000 ล้านบาทเมื่อเดือนมกราคม 2547 เพื่อใช้ในการชำระหนี้ แม้อัตราส่วนกำไรของบริษัทจะไม่ดีขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากการหยุดการผลิตซึ่งไม่อยู่ในแผนของ 2 สายการผลิต แต่ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปรับปรุงรายได้จากการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีถัดไป การปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นจะได้รับการพิจารณาเมื่อบริษัทสามารถดำรงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อไปได้และลดเงินกู้ยืมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ความสำเร็จในการหาเงินกู้ใหม่มาทดแทนเงินกู้ปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดภายในของบริษัทจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ในปี 2547 ยอดขายปูนซีเมนต์ของ TPIPL เติบโตน้อยกว่าคู่แข่งรายสำคัญคือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) และ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC) ซึ่งเติบโตด้านปริมาณประมาณ 10% และด้านมูลค่าประมาณ 20% อัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าคู่แข่งรายสำคัญเกิดจากการที่บริษัทต้องหยุดการผลิตประมาณ 1 เดือนโดยเป็นการหยุดที่ไม่อยู่ในแผนของสายการผลิตที่ 1 และ 2 และเป็นการหยุดซ่อมบำรุงของสายการผลิตที่ 3 ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงประมาณ 700,000 ตัน ทั้งนี้ หากไม่หยุดการผลิตในช่วงดังกล่าว ยอดขายของบริษัทจะเติบโตในระดับเดียวกับคู่แข่ง คาดว่าบริษัทจะสามารถใช้กำลังในการผลิตเต็มที่ได้ในปี 2548 เพื่อรองรับความต้องการปูนซีเมนต์ภายในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในระดับ 10%-15% ปัจจุบันความสามารถในการผลิตของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์และ LDPE ใกล้จะเต็มกำลังการผลิต ในการขยายโรงงานผลิตปูนซีเมนต์โรงที่ 4 บริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกจำนวน 6,000 ล้านบาทและจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ ดังนั้นความไม่แน่นอนของโครงการนี้จึงยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีข้อพิพาทอื่นระหว่างบริษัทกับ Krupp Polysius AG และ Projecktall Industrieberatung GmbH ซึ่งเป็นผู้จัดหาเครื่องจักรที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลด้วย
แม้ว่าหนี้สินของบริษัทได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2547 แต่ก็ยังมีสัดส่วนอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำลงจากเงินต้นที่ลดลงนั้นจะเพิ่มขึ้นบางส่วนจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินบาทได้เพิ่มขึ้นจาก MLR +0.5% เป็น MLR +1.5% และอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก LIBOR +2% เป็น LIBOR +3% สำหรับปี 2548-2550 นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ในอัตรา 0.5% 0.75% และ 1% ของเงินต้นในปี 2548 ปี 2549 และปี 2550 ตามลำดับ ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับ 3-5 เท่าในช่วง 2-3 ปีถัดไป อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถปรับปรุงกำไรได้จากการลดค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหารเนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทริส
เรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ