BOT: ธปท.แถลงการณ์การปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา

ข่าวทั่วไป Wednesday July 2, 1997 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--2 ก.ค.--ธปท.
ตามที่มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยน เงินตรา ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศ ไทย ขอชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1. นับตั้งแต่ได้มีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันมาตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2527 โดยกำหนดค่าเงินบาทเทียบกับกลุ่มสกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นผู้ประกาศอัตรากลางระหว่างเงิน บาทกับเงินดอลลาร์ สรอ. และทำการซื้อขายเงินดอลลาร์ สรอ. กับธนาคารพาณิชย์ ตามอัตราที่กำหนดนั้น ระบบดังกล่าวทำให้เงินบาทเป็นสกุลเงินมีเสถียรภาพมากที่สุด สกุลหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเอื้ออำนวยให้การค้าและการลงทุนขยายตัวอย่าง รวดเร็ว และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตในเกณฑ์สูง
2. อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเริ่มมีปัญหา ด้านเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มสูงขึ้น ทางการจึง ได้ดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างระมัดระวัง เพื่อชะลอการใช้จ่ายของระบบ เศรษฐกิจภายใต้กรอบของการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทแนวนโยบายดังกล่าว มีผลให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ และการขาดดุลบัญชี เดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวรวมทั้งภาวะส่งออกที่ตกต่ำและเงินทุนนำ เข้า ที่ชะลอลงทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ในด้านการเงินนั้น อัตรา ดอกเบี้ยในประเทศยืนอยู่ในระดับสูงประกอบกับระบบสถาบันการเงินประสบปัญหาหนี้ เสียและต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขยายตัวของสินเชื่อและ การประกอบธุรกิจของภาคเอกชน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีการเรียกร้องกันอย่าง กว้างขวางไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยนี้ทำให้เกิดการ เก็งกำไรในค่าเงินบาทจากการคาดคะเนว่า ทางการอาจจะใช้อัตราแลกเปลี่ยน เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศสามารถปรับ ลดลงได้
การเก็งกำไรในค่าเงินบาทเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2540 ซึ่ง ทางการได้เข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน บาทตามความจำเป็น การเก็งกำไรรุนแรงขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2540 ถึงแม้ทาง การจะสามารถยุติการเก็งกำไรในต่างประเทศได้ แต่ภายในประเทศมีข่าวลือการ ลดค่าเงินบาท และการวิพากวิจารณ์นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางและ ต่อเนื่อง จนทำให้ธุรกิจเอกชนขาดความเชื่อมั่นต่อค่าเงินบาท
3. จากสถานการณ์และเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กระทรวงการคลังและ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเห็นสมควรปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ เพื่อยุติความไม่แน่นอน ที่เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยปรับไปสู่ระบบใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว สอด คล้องกับภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินของโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจไทยที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับต่างประเทศ มากขึ้น จากการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน และการเงิน
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะใช้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (managed float) ซึ่งค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับ เงินตราสกุลต่าง ๆ จะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด เงินตราในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามปัจจัย พื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าซื้อขายเงินดอลลาร์สรอ. ในตลาดตามความจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายเศรษฐกิจ
4. ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวดังกล่าว จะทำให้การดำเนิน นโยบายการเงินมีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ปัญหาทาง เศรษฐกิจ ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งทำ ให้ทางการสามารถดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วย ให้สภาพคล่องในระบบการเงินคลายความตึงตัวลงได้ในระยะต่อไป
5. ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหว ระหว่างวันตามภาวะตลาดเงินตราต่างประเทศ ในระยะแรกที่มีการเริ่มใช้ระบบ ใหม่ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสจะผันผวนมาก ก่อนจะปรับตัวเข้าสู่ระดับที่มี เสถียรภาพ
ทั้งนี้ ทางการจะดูแลตลาดเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อลด ความผันผวน และเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพโดยเร็ว ทางการจะคงไว้ซึ่ง นโยบายการเงินที่ระมัดระวังต่อเนื่อง โดยระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศต้องอยู่ใน เกณฑ์สูงเพื่อสนับสนุนมิให้ค่าเงินบาทปรับตัวมากเกินไป และเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนมี เสถียรภาพขึ้น นโยบายการเงินก็จะสามารถผ่อนคลายได้
6. การปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัวจะมีผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจในระยะแรก โดยเฉพาะภาระหนี้สินต่างประเทศและระดับราคาสินค้า และจะยังมีผลต่อเนื่องถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่การยอมรับผลกระทบนี้เป็น สิ่งจำเป็นเพื่อปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ทางการ ขอให้ประชาชนมีความอดทนต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ทางการ จะพิจารณาดำเนินมาตรการเสริม เพื่อบรรเทาผลกระทบนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะการดูแลราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ การผ่อนปรนในเรื่องของ การหักค่าลดหย่อนภาษีให้แก่บริษัทที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการให้ความ อนุเคราะห์ทางการเงิน เพื่อให้ภาคธุรกิจที่สำคัญสามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจ ต่อไปได้ในกรณีที่ประสบภาวะขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนนี้
กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่า การปรับปรุง ระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้ลอยตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยรวม และเป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงิน การค้า การชำระเงิน และภาวะการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของไทยได้ตลอดเวลา --จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ