กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ตามที่ QS Asian Universities Ranking 2015 ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียใน 200 อันดับแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้อันดับที่ 171-180 และอันดับในไทยขยับสูงขึ้นจากปีก่อน ในอันดับที่ 8 มาอยู่ในอันดับที่ 6 มีคะแนนรวม 37.7
โดยเกณฑ์การจัดอันดับประกอบด้วย 9 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ Academic Reputation ร้อยละ 30 พิจารณาจากชื่อเสียงด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย Employer Reputation ร้อยละ 10 พิจารณาจากทัศนคติของผู้จ้างงานต่อมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด Faculty Student ร้อยละ 20 พิจารณาจากสัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ใช้วัดความมุ่งมั่นในการสอนของอาจารย์หรือสะท้อนคุณภาพของการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัด Papers per Faculty ร้อยละ 15 พิจารณาจากจำนวนผลงานที่ตีพิมพ์ต่อจำนวนคณาจารย์ และ Citations per Paper ร้อยละ 15 พิจารณาจากสัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ต่อจำนวนอาจารย์ โดยแหล่งที่มาของผลงานวิชาการที่จะนำมาใช้ในการประเมินผลคือ Scopus ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการอ้างอิงงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุด International Faculty/Students และ Inbound/ Outbound Exchange Students แต่ละตัวชี้วัด คิดเป็นร้อยละ 10 โดยพิจารณาจากสัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างประเทศ และสัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างประเทศ เพื่อวัดกลยุทธ์ด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาต่างประเทศระหว่างมหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจของมหาวิทยาลัยที่ได้รับจากต่างประเทศ
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาการจัดอันดับในระดับสาขาวิชา โดยแบ่งกลุ่มการจัดอันดับเป็น 5 กลุ่มสาขา ได้แก่ กลุ่มสาขาศิลปศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ (Arts & Humanities) กลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (Engineering & Technology) กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ (Life Science & Medicine) กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Sciences) และกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) โดยกลุ่มสาขาวิชาที่ มจธ. มีคะแนนสูง ได้แก่ กลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ได้อันดับที่ 64 ของเอเชีย ส่วนกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ได้อันดับที่ 125 และ 139 ของเอเชีย ตามลำดับ
ทั้งนี้ยังมีมหาวิทยาลัยในไทยที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับต้นๆ ได้แก่ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยมหิดล (ที่ 44 ของเอเชีย) อันดับ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ 53 ของเอเชีย) อันดับ 3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ที่ 99 ของเอเชีย) อันดับ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่ 143 ของเอเชีย) และอันดับ 5-7 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ที่ 171-180 ของเอเชีย ทั้ง 3 มหาวิทยาลัย)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับตามรายละเอียดข้างต้น จะพบว่า มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยขนาดกลางแห่งเดียวที่ติดอันดับในครั้งนี้ ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ล้วนเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานที่มีจำนวนคณาจารย์และนักศึกษาเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับเกณฑ์ตัววัดที่เน้นความมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวาง นับเป็นความสำเร็จของ มจธ. ที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างโดดเด่นจนสามารถติดอันดับต้นๆ ในระดับนานาชาติได้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ของประเทศ และในอนาคต มจธ. ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาบัณฑิตคุณภาพและผลงานที่มีคุณค่าความหมายต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าการจัดลำดับจากบางค่ายอาจไม่ได้เน้นการให้น้ำหนักในด้านที่มหาวิทยาลัยเห็นว่ามีความหมายมาก เพื่อเน้นความเป็นเลิศที่มีคุณค่าความหมายต่อประเทศในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลกตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ได้ตั้งไว้ต่อไป