กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ตีฆ้องร้องป่าว
เครือข่ายสุขภาพไทยชี้วัฒนธรรมอาหารมีความสำคัญเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจ สังคม สะท้อนความเจริญและแนวทางการพัฒนาประเทศ ได้ แนะคนไทยสร้างวัฒนธรรมทำกับข้าวกินในครอบครัวตอกย้ำสุขภาพดีเริ่มที่ห้องครัว
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 25 มิ.ย.2558 ที่ฮอลล์ 7-8 อาคารอิมแพค เมืองทองธานี มีการเปิดงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 2 "น้ำพริกถ้วยเก่า" โดยมี รศ.ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญอาหารไทย มาเป็นประธานในพิธี
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมอาหาร และสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 2 ขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มิ.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า เพื่อต้องการสะท้อนให้สังคมเห็นความสำคัญเรื่องของวัฒนธรรมอาหารไทย โดยเฉพาะน้ำพริก ซึ่งถือเป็นอาหารหลักของคนไทยโดยเฉพาะวีถีชีวิตชนบทจะคุ้นเคยกับการกินมาตั้งแต่เด็ก ทางเครือข่ายต้องการสื่อให้ทุกคนเห็นว่าอาหารไม่ใช่แค่กินอิ่มและอร่อย แต่ยังเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ
นพ.ประพจน์ กล่าวต่อไปว่า วัฒนธรรมอาหารจะสะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองและทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตได้ จะเห็นได้จากเด็กเมื่อติดรสชาติที่กินมาตั้งแต่เด็กและชอบอาหารที่พ่อแม่ทำให้กิน ก็จะสืบเนื่องการกินอาหารนั้นมาจนโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น ภาคอีสานจะชอบกินข้าวเหนียว น้ำพริก หรือปลาร้า เป็นต้น แต่ปัจจุบันรสนิยมการบริโภคอาหารของคนไทยกำลังเปลี่ยนไปจากการเติบโตของระบบอุตสาหกรรมอาหาร จึงเห็นอาหารสำเร็จรูป อาหารจวนด่วนเกิดขึ้นมากมาย รสชาติเหมือนกันหมด เมื่อเด็กติดใจอาหารสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปแทนที่จะรีบกลับบ้านมากินอาหารที่พ่อแม่ทำให้กิน ก็จะเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ต่อไปรสชาติและความชอบการกินอาหารก็จะเปลี่ยนไป อาหารที่พ่อแม่ทำให้กินที่มีรสชาติที่หลากหลาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น หากสูญหายไปจะรื้อฟื้นให้กลับคืนมาคงทำได้ยาก
"สังคมไทยกำลังเผชิญกับผู้ผลิตเป็นตัวกำหนดสินค้า ไม่ใช่คนกินเป็นผู้กำหนดอีกต่อไป บางครั้งอาหารสำเร็จรูปก็เป็นตัวกำหนดความนิยมการบริโภค ซึ่งก็จะไปเปลี่ยนลิ้นรับรส เมื่อเป็นแบบนี้วัฒนธรรมกินน้ำพริกก็จะหายไป หากไม่กินน้ำพริก เราก็ไม่ได้กินผัก เราจะกินกันแค่ผักไม่กี่ชนิดที่ปลูกในเชิงเศรษฐกิจ โดยที่ผักพื้นบ้านเราไม่รู้จักแล้วจะกลายเป็นวัชพืชในที่สุด" นพ.ประพจน์ กล่าวและย้ำว่า อย่าลืมว่าสุขภาพดีต้องเริ่มที่ห้องครัวของเราเอง
ด้าน นายวิฑูร เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชววิถี กล่าวถึงเครือข่ายที่มาร่วมงาน ว่า กิจกรรมหลักของเครือข่ายที่มาร่วมงานแยกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนแรก คือการให้ความรู้เรื่องสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ โดยเราจะนำรายงานสำคัญเรื่องของผลการตรวจของสาตกค้างในผักและผลไม้มานำเสนอ และพร้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วมลงชื่อให้มีการยกเลิกสารเคมีที่พบและเป็นปัญหาเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนที่สอง คือ เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารซึ่งมากจาทั่วประเทศจำนวน 35 เครือข่าย ที่จะมานำเสนอภูมิปัญญาและวิถีชีวิต ตลอดจนวัฒนธรรมทางาหารของท้องถิ่นตัวเองมนำเสนอ
ส่วนที่สาม คือ กลุ่มอิสรภาพทางพันธุกรรม เนื่องจากเราเห็นว่าความมั่นคงทางอาหารต้องมาจากฐานรากที่มั่นคง คือมีพันธุ์พืชที่หลากหลาย และเมล็ดพันธุ์ต้องอยู่ในมือเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันเราเห็นสภาพปัญหาที่เมล็ดพันธุ์ไปอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า และมีความหลากหลายน้อย ในงานเราก็จะนำเมล็ดพันธุ์มาเผยแพร่ให้กับผู้สนใจโดยเฉพาะคนเมืองได้นำไปขยายต่อ และส่วนที่สี่ คือ กลุ่มสวนผักคนเมือง ก็จะมีการจัดแสดงการปลูกผักในพื้นที่เมือง ให้คนในสังคมเมืองได้รู้ว่าพื้นที่เล็กๆ ก็สามารถปลูกผักไว้กินเองได้