กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๒๙ มิ.ย.๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๑๘๗/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กรณีเด็กหญิง อายุ ๑๓ ปี นักเรียนชั้น ม.๑ เป็นเด็กเรียนดี ตั้งใจอยากจะเรียนแพทย์ แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน อาศัยอยู่ในเพิงสภาพเก่าทรุดโทรม กับแม่และน้องสาว อายุ ๔ ขวบ ที่พิการศีรษะโตบวมน้ำ ลิ้นไก่สั้น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และยายทวด อายุ ๙๖ ปี ที่จังหวัดสกลนคร ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร (พมจ.สกลนคร) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือ ในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและสนับสนุนเรื่องการศึกษาของเด็กหญิงในระยะยาว และดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของน้องสาว ๔ ขวบ รวมถึงปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมถูกสุขลักษณะ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีข่าวสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวของหญิงชรา อายุ ๘๓ ปี ซึ่งทุกเช้าจะปั่นจักรยานสามล้อไปตลาดในตัวเมือง ระยะทางกว่า ๕ กิโลเมตร ทุกวัน เพื่อซื้อเนื้อหมูและเนื้อไก่ นำกลับมาปรุงเป็นอาหาร เพื่อนำไปเลี้ยงดูสุนัขจรจัด ที่จังหวัดพิษณุโลก และกรณีชาย อายุ ๔๐ ปี ขาพิการเดินไม่ได้ เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ แต่มีจิตอาสา นั่งรถวิลแชร์ตระเวนทำความสะอาดกวาดเศษใบไม้และขยะบริเวณลานวัด และมูลนิธิต่างๆ โดยให้ภรรยาเป็นผู้ขี่รถจักรยานยนต์ให้เกาะท้ายตระเวนไปทั่วจังหวัดชัยนาท จากทั้ง ๒ กรณี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั้ง ๒ จังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ ทั้งนี้ ตนขอชื่นชมและยกย่องในการมีจิตอาสาเพื่อสาธารณะ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำความดีเพื่อสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นการสร้างความสุขให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น
"จากกรณีมีเครือข่ายสลัม ๔ ภาค จากทุกเขต จำนวน ๘ เครือข่าย ได้แก่ ๑) เครือข่ายเพื่อการพัฒนา ๒) เครือข่ายศูนย์รวมพัฒนา ๓) เครือข่ายใต้สะพาน ๔) เครือข่ายสิทธิชุมชนภาคใต้ ๕) เครือข่ายฟื้นฟูสร้างสรรค์ ๖) เครือข่ายพระราม ๓ ๗) เครือข่ายคนไร้บ้าน และ ๘) เครือข่ายรถไฟสายใต้ตะวันตก รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๕๐ คน มาขอเข้าพบ เพื่อเจรจาเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัย การถูกไล่ที่ โดนขับไล่ ถูกหมายศาลให้ออกจากพื้นที่ และต้องการ ให้กระทรวงฯ จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชาวเครือข่ายฯ ตนมีความห่วงใยถึงปัญหาดังกล่าว และจะพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลปัญหานี้ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกทิศทาง รวมทั้งให้ตัวแทนเครือข่ายฯ นัดวันเวลาที่จะมาเข้าพบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย