กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
หลังได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีสาธารณสุข 10 ประเทศให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ระบุที่ผ่านมาผู้ประสบภัยต้องเสียชีวิตหลังเกิดเหตุถึงร้อยละ 40
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จัดประชุมวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัตินานาชาติ หรือ INTERNATIONAL DISASTER MEDICAL RALLY AND CONFERENCE ในหัวข้อ TOGETHER WE WILL SURVIVE ระหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายน 2558 ที่โรงแรมเวียงอินน์ จังหวัดเชียงราย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติในระดับอาเซียน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินมีแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีมาตรฐานเดียวกันในทั้งภูมิภาค เนื่องจากที่ผ่านมาในภูมิภาคอาเซียนเกิดภัยพิบัติขึ้นหลายครั้ง และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ฯลฯ ดังนั้นหากมีแนวทางที่เหมือนกัน เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ จะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
นอกจากนี้จะมีการถอดบทเรียนการจัดการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติของแต่ละประเทศด้วย อาทิ การจัดการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งจะมีการฝึกอบรมระบบการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติ ระบบบัญชาการเหตุการณ์ การกู้ภัยทางน้ำ การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในสถานการณ์ต่างๆ และในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ จะมีการแข่งขันทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัย (INTERNATIONAL DISASTER MEDICAL RALLY) โดยมีทีมกู้ชีพของไทย และอีก 10 ทีมจากอาเซียนด้วย โดยจะจัดเป็นทีมผสมเพื่อแข่งขันทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในสถานการณ์จำลอง เช่น ตึกถล่ม สารเคมีรั่วไหล น้ำท่วม ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแข่งขันระดับอาเซียนในประเทศไทย
"ประโยชน์ของการจัดงานครั้งนี้ จะทำให้เรามั่นใจว่าไม่ว่าจะไปเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ใดในภูมิภาคอาเซียน ก็จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ได้ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี รวมทั้งจะทำให้เกิดการวางระบบการประสานงานที่ดีในภูมิภาคด้วย" เลขาธิการสพฉ.กล่าว
ด้าน ดร.พิจิตต รัตนกุล กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางในการเพิ่มเติมองค์ความรู้ และจัดฝึกอบรม เพื่อให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศ มีความรู้ในการจัดการภัยพิบัติ มีศักยภาพและสามารถช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยให้มีโอกาสรอดมากยิ่งขึ้น เพราะจากสถิติที่ผ่านมามีผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ประสบภัยมักจะเสียชีวิตภายหลังเกิดเหตุภัยพิบัติถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามการประชุมและฝึกอบรมในครั้งนี้ นอกจากไทยจะเป็นคนให้ความรู้แล้ว ไทยยังได้เรียนรู้จากประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะแต่ละประเทศมีจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกันไป ดังนั้นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของทั้งอาเซียน และขณะนี้ทุกประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะการเกิดภัยพิบัติในประเทศหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เนื่องจากภัยพิบัติไม่เลือกว่าสถานที่เกิดเหตุจะเป็นเขตแดนของประเทศใด ดังนั้นหากมีการประชุมหารือ หรือฝึกซ้อนร่วมกันก่อน เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติแต่ละประเทศสามารถส่งกำลังคนเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที โดยไม่ต้องมาทำความเข้าใจกันอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที
ด้านนายแพทย์สุรินทร์ สุมนาพันธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ภัยพิบัติที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยในจังหวัดเชียงราย และในเขตพื้นที่ภาคเหนือ คือ แผ่นดินไหว เนื่องจากมีรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่หลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีภัยพิบัติอื่นๆ อาทิ น้ำป่า หมอกควัน ดังนั้นการฝึกอบรมครั้งนี้ไม่ใช่ฝึกหรือสร้างความเชี่ยวชาญให้บุคลากรของประเทศไทยเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดระบบการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้เกิดมาตรฐานในการช่วยเหลือรูปแบบเดียวกันทั้งภูมิภาคด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และทำให้ประชาชนทั้งอาเซียนได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น