กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ขานรับมาตรการของภาครัฐนำโดยกระทรวงยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดและเข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หวังร่วมกันสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ซื้อทั้งการไม่ดื่มก่อนวัย การดื่มอย่างมีจิตสำนึก และแก่ผู้ขายในการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชน เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายธนากร คุปตจิตต์ ประธานสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) เปิดเผยว่า "จากข่าวที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษานั้น สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเห็นว่ามาตรการในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันการเข้าถึงการบริโภคแอลกอฮอล์ของเยาวชนได้ตรงประเด็นอยู่แล้ว และบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนก็มีความรุนแรงมากกว่า แต่ยังขาดความเข้มงวดและการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ขายและผู้ซื้อ การออกกฎหมายห้ามจำหน่ายรอบสถานศึกษาเพิ่มนั้น ไม่ได้เป็นการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาโดยตรง เพราะเป็นแค่การห้ามขาย ไม่ได้ห้ามดื่ม เยาวชนก็ยังคงสามารถหาซื้อจากช่องทางอื่นมาแอบดื่มในพื้นที่ได้อยู่ดี แต่กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งค้าปลีก ร้านอาหาร รวมถึงภาคบริการอันส่งผลต่อการว่างงาน และยังอาจก่อให้เกิดการกักตุน แอบขาย และปัญหาอื่นๆ ตามมา จึงควรที่จะพิจารณารับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ประชาชน ประชาสังคม และภาคธุรกิจ เพื่อนำไปสู่นโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้ร่วมกันแก้ปัญหาด้านแอลกอฮอล์ต่างๆ ได้อย่างแท้จริง"
คุณธนากรกล่าวต่อว่า "สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกฮอล์ไทยได้สร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรมในการทำการตลาดและโฆษณาอย่างรับผิดชอบต่อสังคม โดยสมาชิกของ TABBA มีระเบียบปฏิบัติด้านการตลาดที่มากกว่ากฎหมายกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ทำการตลาดกับผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สมาคมฯ พร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น เรามีข้อมูล งานวิจัย และกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนงาน นโยบาย และมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ต่อไป และที่สำคัญ ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ต้องยอมรับในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับภาคเอกชน เพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน"