กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
วิเคราะห์ เจาะลึกหลากหลายเรื่องราวชาติพันธุ์ในเอเชีย รูปแบบปาฐกถาพิเศษ การเสวนาทางวิชาการ และการนำเสนอผลงานทางวิชาการ วันที่ ๒๐ – ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูพงษ์ พงษ์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า "มหาวิทยาลัยนเรศวรมีหนึ่งพันธกิจสำคัญในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งคือ การวิจัยเชิงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อนำผลของการวิจัยมาเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ในประเทศต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาละวิน ด้วยเหตุนี้จึงมีการรวบรวมผลงานวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดเป็นโครงการประชุมวิชาการนานาชาติด้านชาติพันธุ์ในเอเชียครั้งที่ ๑ เรื่อง "ชีวิต อำนาจ ชาติพันธุ์" ขึ้น โดยสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และหน่วยงานร่วมภาคีที่ศึกษาด้านชาติพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สถาบันภูพาน มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มหาวิทยาลัยยูนนาน ประเทศจีน มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และ Centre for Tai, Tribal & NE India Studies โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านชาติพันธุ์ในสาขาต่าง ๆ จากนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ อันจะนำไปสู่การเผยแพร่ พัฒนา และความร่วมมือทางวิชาการต่อไป"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน และหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า "โครงการประชุมวิชาการนานาชาติด้านชาติพันธุ์ในเอเชียครั้งที่ ๑ เรื่อง "ชีวิต อำนาจ ชาติพันธุ์" กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๒๐ – ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วยการปาฐกถาพิเศษ การเสวนาทางวิชาการ และการนำเสนอผลงานทางวิชาการในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ชาติพันธุ์กับศิลปะการแสดง, ชาติพันธุ์กับการท่องเที่ยวนานาชาติ, ชาติพันธุ์กับภาษาและวรรณกรรม, ดนตรีชาติพันธุ์, สังคมวิทยาชาติพันธุ์, ชาติพันธุ์ในสังคมนานาชาติและภาคกลางของสยาม, อำนาจ ชีวิต และกลุ่มชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน, ลาวศึกษา โดยได้เชิญองค์ปาฐกที่มีความสำคัญ มาเปิดพรมแดนองค์ความรู้เรื่องชาติพันธุ์ไท เช่น Prof. Dr. Volker Grabawsky จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Prof. Dr. Dao Cheng Hua จากมหาวิทยาลัยยูนนาน ประเทศจีน, Prof. Dr. Puspa Gogoi จาก Centre for Tai, Tribal & NE India Studies ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไทอาหม, ศ.เกียรติคุณ ดร.อรรถ นันทจักร์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชนชาติไทในเวียดนาม"
ขอเชิญนักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ งานวิจัยและสารสนเทศ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๐๔ – ๕ และทาง www.nuks.nu.ac.th