กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ส่วนสื่อสารองค์กร สสว.
สสว. ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน จำนวน 32 หน่วยงาน ขับเคลื่อนงานบูรณาการส่งเสริม SMEs ตามนโยบายรัฐบาล ผ่านกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs จัดเต็มสิทธิประโยชน์ด้านการเข้าถึงแหล่งทุน การตลาด องค์กรความรู้ ฯลฯ หวังให้เกิดการต่อยอดและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2558 ว่ารัฐบาลและตนเองในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs มาโดยตลอด และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ และร่วมกันดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในทุกรูปแบบ
โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ยังขาดการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทำให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ยังเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เช่น การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี หรือการบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้นในการดำเนินธุรกิจ (Technological-based SMEs) รวมถึงจำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนด้านเงิน และมีการตลาดรองรับ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้แก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการออกมาตรการต่างๆ อาทิ การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ หรือ นาโนไฟแนนซ์ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Policy Loan เพื่อช่วยเหลือประคับประคอง SMEs ขนาดเล็ก การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอยู่ ยังอยู่ในวงจำกัด หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีข้อจำกัดทั้งในด้านของปริมาณและคุณภาพ รวมถึงลักษณะของบริการที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการและปัญหาของผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) จึงอนุมัติให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ของประเทศ ไปจัดตั้งศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือ SME One Stop Service : OSS ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อ เชื่อมโยง ส่งต่องานบริการ ภาครัฐและภาคเอกชนให้กับผู้ประกอบการ ครอบคลุมทั้งการให้ข้อมูลความรู้ คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจ การอบรม/สัมมนา รวมถึงการขึ้นทะเบียน SME และเป็นช่องทางในการรับและดำเนินการด้านเอกสารของผู้ประกอบการ SMEs กับหน่วยงานภาครัฐ
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร ของ สสว. ในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทย ให้มีความแข็งแกร่ง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน สามารถเข้าสู่ Global Supply Chain อันจะนำมาซึ่งการสร้างเข้มแข็ง และความเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs กว่า 2.7 ล้านราย และองค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังได้ขยายครอบคลุมไปถึงองค์กรเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ซึ่งเหล่านี้รวมเรียกว่า SMEs Service Provider หรือกลุ่มผู้ให้บริการ SMEs
ดังนั้น การลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 32 หน่วยงาน ในครั้งนี้ จึงถือเป็นความร่วมมือของกลุ่มผู้ให้บริการ SMEs และเป็นหนึ่งในการดำเนินงานบูรณาการขับเคลื่อนการส่งเสริม SMEs ตามนโยบายของรัฐบาลและคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือดำเนินกิจกรรมด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้า เพื่อให้เครือข่ายผู้บริหาร SMEs สามารถส่งต่อผู้ประกอบการ SMEs ไปยังหน่วยงานร่วมอื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อจัดหาสิทธิประโยชน์สนับสนุนการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs และเพื่อจัดทำปฏิทินกิจกรรม SMEs ร่วมกัน และผนึกกำลังประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเข้าร่วมกิจกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงเพื่อจัดหาสิทธิประโยชน์มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือ SME One Stop Service : OSS ซึ่ง สสว. จะได้นำร่องจัดตั้งขึ้นทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ จำนวน 1 แห่ง ณ ที่ทำการ สสว. อาคาร TST ถนนวิภาวดีรังสิต และในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก จ.สระแก้ว จ.สงขลา จ.มุกดาหาร จ.ตราด และ จ.หนองคาย เพื่อส่งความช่วยเหลือโดยตรงถึงผู้ประกอบการ SMEs
"ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการ SMEs มีศักยภาพในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องและรอบด้าน ซึ่งหน่วยงานพันธมิตรทุกหน่วยงานได้ร่วมจัดสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs อาทิ การให้อัตรดอกเบี้ยพิเศษจากสถาบันการเงิน ส่วนลดสินค้าและบริการเป็นกรณีพิเศษ การเพิ่มช่องทางการตลาด หรือการใช้เทคโนโลยีตลาดออนไลน์ ตลอดจนมีการเชื่อมโยงความรู้ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งต่อไปความร่วมมือนี้จะขยายไปถึงการจัดทำ SMEs Application และการส่งต่อผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริการ SMEs ครบวงจร ของ สสว. เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้เติบโต สู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป"
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และสถาบันการเงิน จำนวน 32 หน่วยงาน โดยจำแนกความร่วมมือเป็นด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน จำนวน 10 องค์กร ด้านการสื่อสาร เทคโนโลยี การตลาดออนไลน์ จำนวน 5 องค์กร ด้านการค้า การส่งเสริมช่องทางการตลาด จำนวน 4 องค์กร ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ จำนวน 4 องค์กร ด้านการผลิต นวัตกรรม วิจัยและพัฒนา จำนวน 4 องค์กร ด้านการจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจ จำนวน 1 องค์กร ด้านการประกันภัย จำนวน 1 องค์กร และด้านสายการบิน จำนวน 1 องค์กร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอีกจำนวน 2 องค์กร ได้แก่ กรมบังคับคดี และกรมบัญชีกลาง