กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ลงพื้นที่ให้ความรู้ พร้อมสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายเฝ้าระวังภัยทางรังสีในเขตภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงราย หวังสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัด "กิจกรรมสัมพันธ์เครือข่ายเฝ้าระวังภัยทางรังสี (ภาคเหนือ)" ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ห้องสุพรรณิการ์ ๑ ชั้น ๑ โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม จังหวัดเชียงราย โดยมี นางสุชิน อุดมสมพร ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวรายงาน และนายรัชกฤช สถิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับและเป็นประธานเปิดพร้อมเน้นย้ำสร้างความสัมพันธ์อันดี รวมทั้ง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเฝ้าระวังภัยทางรังสีกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยทางรังสีในเขตภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ตาก นอกจากนี้ ยังมีสื่อมวลชน ผู้นำชุมชน บุคลากรทางการแพทย์ บุคคลากรทางการเกษตร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำภูมิภาคภาคเหนือตอนบนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
นางสุชิน อุดมสมพร ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ปส. มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยผ่านเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ ซึ่งติดตั้งครอบคลุมหลายส่วนของประเทศ จำนวน ๑๗ สถานี ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ตาก ขอนแก่น อุบลราชธานี หนองคาย สกลนคร บุรีรัมย์ กรุงเทพฯ ปทุมธานี กาญจนบุรี ตราด ระยอง สงขลา ระนอง และภูเก็ต และสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีใต้น้ำอีก จำนวน ๓ สถานี ได้แก่ ระยอง สงขลา และภูเก็ต นอกจากนี้ ยังมี "ศูนย์ปรมาณูเพื่อสันติภูมิภาค" จำนวน ๓ แห่ง ใน ๓ ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออก ณ มหาวิทยาลัยบูรพา และภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ย้ำความมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน และสิ่งแวดล้อมต่อไป
โดยภายในงานเน้นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเครือข่ายภาคเหนือเกี่ยวกับการเฝ้าระวังความปลอดภัยทางรังสีให้ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมฐานปฏิบัติการทางรังสี เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วยวิธีที่เข้าใจง่ายและสามารถทดลองได้ด้วยตนเอง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมฝึกอบรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สำนักนโยบายและบริหารด้านพลังงานปรมาณู โทร. ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ ๑๑๒๓ - ๑๑๒๔