กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--โรงมหรสพ ทองหล่อ
ละครเวทีมีเพลง โดย 206 performing troupe ร่วมกับ ทองหล่อ อาร์ตสเปซ ดัดแปลงบทละคร จากนวนิยายเรื่องแรกของฮารูกิ มูราคามิ สำนวนแปลของ นพดล เวชสวัสดิ์ นวนิยายเล่มบางๆที่ส่งอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่มายาวนานในทศวรรษนี้ ออกเดินทางย้อนไปสู่เศษชิ้นของความทรงจำอันเวิ้งว้าง...ไปกับพวกเขา
ตอนที่ "ผม" อายุ ใกล้จะ 30 อะไรบางอย่าง ทำให้เขาต้อง "เปล่งเสียง" ออกมาบ้าง แต่เรื่องที่เขาเล่า มันกลับเป็นเพียงเรื่องราว 18 วัน แสนธรรมดา ของเขาและเหล่าผองเพื่อนเพี้ยนๆ ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน หลังจากที่เขาจบปี 1 จุดเล็กๆ ในความทรงจำ ของเขาจะพาเราออกเดินทางไปอีกไกลแสนไกล
นำแสดงโดย ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น (ครูส้มโอ จาก มศว มากฝีมือทั้งการแสดงที่ลึกซึ้งเปราะบาง ในบท "ผู้หญิงเก้านิ้ว") ,ทานิกาวา โชโกะ (ศิลปินลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ผู้มากฝีมือที่จะมาสวมบท "มุสิก"), อรรถพล อนันตวรสกุล (ครูฮูก นักวิชาการผู้หลงรักการละคร และ มูราคามิตัวจริงเสียงจริง เขาคือ "เจ"), สิรี ริ้วไพบูรณ์ (ว่าน นักศึกษาปโท ละคร อักษร จุฬา ผู้มีผลงานและอยู่เบื้องหลังผลงานมากมาย), มานพ เกษประดิษฐ์ (ตั้ม นักแสดงจาก 206 Performing Troupe และอาจารย์พิเศษคณะดนตรีและการแสดง กับการรับบทบาทสำคัญ "ผม" ),พิมลพรรณ เลิศล้ำ (ครูอ้อ ดร. หมาดๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านลาว แต่ต้องมาเล่นเรื่องจากญี่ปุ่น) และ กำกับการแสดง โดย อภิรักษ์ ชัยปัญหา (ผู้กำกับการแสดงและนักเขียนบทที่มีผลงานการแสดงมากมายเช่น ตงฟางปู้ป้ายหมื่นปีมีข้าคนเดียว, ม้า, M>A=D, ชิงนาง และนักแสดง The4sister)
รอบการแสดง : เริ่มตั้งแต่เสาร์ที่ 4 ไปจนถึง อาทิตย์ที่ 12 ก.ค. นี้ วันธรรมดารอบ 19.30 น. ในวันเสาร์ และอาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.00 น. (ยกเว้นเสาร์ที่ 4 มีแค่รอบ 19.30 น. และงดแสดงวันอังคารที่ 7 ก.ค. )
รายละเอียดการจำหน่ายบัตร
บัตรราคา 500 บาท / นักเรียน นิสิต นักศึกษา 350 บาท
(หากซื้อบัตรเข้าชมเป็นหมู่คณะ 5 ท่านขึ้นไป บัตรปกติเหลือเพียง 400 บาท และ บัตรนักศึกษาเหลือเพียง 300 บาท)
ติดต่อจองบัตรล่วงหน้า : และข้อมูลละครเพิ่มเติมได้ที่ : Tel. 095-924-4555
https://www.facebook.comThonglorartspace/ อีเมล : thonglorartspacebkk@gmail.com
Event Page สำหรับดูข้อมูล และจองบัตร https://www.facebook.com/events/526557147483812/
วิธีการเดินทางมายังโรงมหรสพ ทองหล่อ :https://www.youtube.com/watch?v=MO4PmDlaYjY
เรื่องย่อ
Hear the wind sing ของนักเขียนดังของโลกชาวญี่ปุ่น ฮารูกิ มูราคามิ หรือ สดับลมขับขาน ในเวอร์ชั่นภาษาไทย ที่แปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์ เป็น นวนิยายเรื่องแรกของมูราคามิ เป็นนวนิยายภาคต้น ของ นวยิยายชุด ไตรภาคแห่งมุสิก (มุสิก แปลว่า หนู เป็นตัวละครเอกของนวนิยายทั้งสามเรื่อง) นวนิยายเล่มบางๆ เล่มนี้ เป็นวรรณกรรมปรัชญาสังคม ที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมบริโภคนิยม ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมและแนวคิดหัวก้าวหน้า การตั้งคำถามกับกรอบความคิดความเชื่อ ที่ส่งอิทธิพลครอบงำ "เรา" นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลGunzo Shinjin Sho อีกด้วย
มูราคามิ ใช้การเล่าเรื่องราวในอดีตในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ของการเรียนมหาวิทยาลัย ของ "ผม" ที่ชวน "มุสิก" เพื่อนรัก ของเขามาที่บ้านเกิด หลังจากที่พวกเขาออกไปร่วมประท้วงรัฐบาลกับพวกนักนักศึกษา และในช่วงเวลา 18 วัน อันแสนธรรมดานั้น ที่บาร์แจสของ "เจ" เขาได้พบเจอกับคนหนุ่มสาวอีกหลายคนที่มีสภาพ "พังยับ" คล้ายๆ กับเขา และในท้ายที่สุด พวกเขาต่างก็แยกย้ายกันไป มีเพียงสายลมที่พัดผ่านพวกเขาเป็นระยะๆ เท่านั้น ที่ยังบอกพวกเขาว่า พวกเขายังมีกันและกันเสมอ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่แห่งนี้
ไม่น่าเชื่อว่านวนิยายเล่มบางๆ เล่มนี้จะส่งอิทธิพลไปยังหนุ่มสาวต่างๆ ทั่วโลก ให้เกิดการตั้งคำถามกับวิถีชีวิตแบบเก่า และการท้าทายให้เราออกไปใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของโลก แทนที่จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ที่ทำตัวสูงส่งและก้มหน้าลงมามองโลกที่ตัวเองไม่มีวันรู้จัก เนื่องจากเรื่องราว เป็นเรื่องของความทรงจำแสนธรรมดาของตัวละครที่พ่ายแพ้ต่อโลกและสังคม การเล่าเรื่องจึงใช้การเล่าเรื่องแบบภาพปะติด ไม่ใช่การเล่าเรื่องแบบต่อเนื่อง ใช้การเล่าเรื่องที่ทำลายเส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งกับเรื่องจริง และเนื่องจากเรื่องราว พูดถึง สายลม การออกแบบการแสดง จึงใช้ dynamic จากนักแสดง เพื่อสร้างบรรยากาศของลม สอดแทรกในการแสดงแต่ละฉาก มูราคมิมักสอดแทรกเพลงประจำยุคสมัยไว้ด้วย การแสดงครั้งนี้ จึงเลือกใช้ การแสดงดนตรีสด และร้องเพลงทั้งที่มูราคามิกำหนดไว้ในเรื่อง และหยิบยกบางส่วนจากเนื้อความ มาแต่งเป็นเพลง โดยใช้เพลงที่มูราคามิ กำหนดไว้ มาเป็นแนวในการแต่งเพลงใหม่เข้าไป การร้องเพลง หรือ เพลง ในนวนิยายของมูราคามิ ราวกับเป็นเครื่องปลอบประโลมใจทั้งของตัวละคร และผู้อ่าน (ผู้ชมในเวอร์ชั่นละคร) ดอกซากุระ ซึ่งเป็นดอกไม้ฤดูใบไม้ผลิ ก่อนจะเข้าสู่ฤดูร้อน ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญในเรื่อง ผ่านการสร้างฉาก เครื่องแต่งกายของเรื่องด้วย โดยมิได้นำเสนอแบบสมจริง เพื่อให้เป็นภาพแทนของความทรงจำอันพร่าเลือนของตัวละครวัยหนุ่มสาว ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีช่วงเวลาผลิบาน Hear the Wind Sing สดับลมขับขาน ในเวอร์ชั่นละครเวทีครั้งนี้ จึงเรียกตัวเองว่าเป็นละครเวทีมีเพลง ที่ใช้ dynamic ของลม มาช่วยเล่าขานเรื่องราวของพวกเขา ด้วยหวังให้ เรื่องราวของพวกเขา ขับขานบทเพลง ผ่านสายลมมายังผู้ชมชาวไทยร่วมสมัย ที่อาจจะกำลังอยู่ในสภาพไม่ต่างจากพวกเขา (บ้านเมืองที่เหมือนกำลังติดกับไม่รู้จะไปทางไหนจึงจะหลีกหนีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้) ถึงแม้ละครเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้ชี้แนะหรือบอกทางออกอะไรสูงส่ง แต่ก็ชวนตั้งคำถามและปลอบประโลมใจให้พอมีกำลังก้าวเดินต่อไปได้ โดยไม่รู้สึกเดียวดายเกินไป