กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--TCELS
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับเครือข่าย Thailand Towards Excellence in Clinical Trials (ThaiTECT) เตรียมจัดการประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 15 (ThaiTECT Annual Meeting 2015) ในหัวข้อ "จากจุดเริ่มต้นแห่งการค้นพบทางการแพทย์ สู่การวิจัยในมนุษย์" ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท 24 กรุงเทพฯ
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ ถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทย ที่จะได้มูลค่าตลาดและฐานประชากรเป้าหมายเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยที่เอื้อในหลาย ๆ ประเด็น ทั้งจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การเกิดโรคอุบัติใหม่ การมีความร่วมมือพัฒนาและต่อยอดการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์ระหว่างของหน่วยงานรัฐและเอกชนในประเทศ ตลอดจนคุณภาพของการบริการทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับภูมิภาค การส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและชีววัตถุเพื่อการส่งออกให้เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ วางตำแหน่งประเทศให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในภูมิภาค เปลี่ยนประเทศไทยจากผู้ซื้อยาเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก เกิดการรวมตัวของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีอุบัติการณ์ของโรคคล้ายคลึงกัน นำไปสู่การสร้างสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรม ทั้งด้านรายได้ สังคม และสุขภาพ
"การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้การทำวิจัยในระดับก่อนคลินิกและคลินิกที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีส่วนสำคัญในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เข้าสู่อุตสาหกรรมยาและตลาดเชิงพาณิชย์ โดยในการประชุมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางคลินิก ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ถือเป็นเครือข่ายครบวงจรด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งแต่ระดับก่อนคลินิก จนถึงการวิจัยในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นฐานการวิจัยที่สำคัญก่อนจะมีการขยายจำนวนตัวอย่างในการวิจัยเพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่การผลิตเพื่อการรักษาในระยะต่อไป"ผอ.TCELS กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ประธานเครือข่าย ThaiTECT กล่าวว่าThaiTECT มีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งมั่นให้ในอนาคตประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยา วัคซีน ชุดตรวจและเครื่องมือแพทย์ เพื่อสามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ เครือข่ายนี้จึงประกอบด้วย 4 เสาหลักที่สำคัญ คือ 1) เครือข่ายนักวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จำนวน 22 สถาบัน 2) ผู้สนับสนุนทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล ได้แก่ PreMA CRO และหน่วยงานรัฐบาล 3) เครือข่ายคณะกรรมการด้านจริยธรรมการวิจัยทางคลินิก(FERCIT) หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล ได้แก่ องค์การอาหารและยา
เครือข่าย ThaiTECT มีการจัดประชุมอย่างสม่ำเสมอปีละ 2 ครั้งและมีการประชุมวิชาการประจำปี ซึ่งจัดประชุมอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 15 เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาในด้านการวิจัยในทางคลินิกให้บรรลุประสงค์ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีวัคซีนที่คิดค้นในประเทศไทยสามารถนำเข้าสู่การทดสอบทางลินิกได้ โดยเฉพาะในการป้องกันหรือรักษาโรคที่สำคัญในประเทศไทย เช่น วัคซีนไข้เลือดออกและวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ ศาสตราจารย์เกียรติ กล่าว