กรุงเทพ--8 มิ.ย.--สจร.
ผลประชุมโครงการพระราชดำริ นายกฯ รับทราบความก้าวหน้าโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สจร.ชี้ประโยชน์ช่วยร่นระยะทาง/ประหยัดเวลาในการขนส่ง และเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมืองและระบบจราจรกรุงเทพตอนใต้
พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจรจรทางบก (คจร.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าและสถานภาพในการดำเนินโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม จากการประชุมโครงการแก้ไขปัญหาจรจรตามแนวพระราชดำริ มีนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า โครงการดังกล่าวมีกรมโยธาธิการรับผิดชอบ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วนคือ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระประแดง วงเงินลงทุนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และโครงการปรับปรุงถนนทางรถไฟสายเก่า มีวงเงินลงทุนประมาณ 1.6 พันล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว
ปัจจุบันได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มเวนคืนในปี พ.ศ.2542 โดยใช้งบประมาณในการเวนคืนประมาณ 7.9 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ.2543 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2546
ในส่วนของโครงการขุดลอกและปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ ที่กรมชลประทานรับผิดชอบซึ่งขนานไปกับแนวก่อสร้างสะพานฯ ของกรมโยธาธิการดังกล่าวนั้น ทำการศึกษาโครงการเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการออกแบบ โดยจะใช้งบประมาณทั้งสิน 1.05 พันล้านบา หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลได้ถึง 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
"โครงการนี้ จะช่วยลดระยะเวลา และระยะทางในการขนถ่านและลำเลียงสินค้าระหว่างท่าเรือ และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด โดยโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาการพัฒนาระบบเมืองและการพัฒนาระบบจราจร ซึ่ง สจร.กำลังดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปของคณะอนุกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานครตอนใต้และสมุทรปราการ หากการศึกษาแล้วเสร็จสามารถใช้เป็นต้นแบบสำหรับพัฒนาเมืองในพื้นที่อื่นๆ ในขั้นตอนต่อไป เช่น ทิศเหนือตั้งแต่ดอนเมืองจนถึงรังสิต รวมถึงการพัฒนากรุงเทพมหานครทั้งหมดในแผนระยะยาว "เลขาธิการคจร.กล่าว
โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 2 ส่วนคือส่วนที่ 1 โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระประแดง ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อยๆ คือ สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 สะพาน การก่อสร้างทางแยกต่างระดับและเชิงลาดเชื่อมต่อด้านทิศตะวันตก ด้านทิศเหนือ และด้านทิศใต้ และส่วนที่ 2 คือ โรงการปรับปรุงถนนทางรถไฟสายเก่าให้เป็น 6 ช่องจราจร เริ่มจากถนนหน้าการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปตามแนวถนนทางรถไฟสายเก่า ถึงถนนปู่เจ้าสมิงพราย ระยะทางประมาณ 7.8 กิโลเมตร
หากโครงการแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางสำคัญในการขนถ่ายสินค้าไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ เช่น ทิศเหนือ สามารถไปตามแนวถนนพระรามที่ 3 ถนนรัชดา เข้าสู่ถนนวิภาวดีรังสิตหรือพหลโยธินมุ่งสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออก สามารถใช้ถนนทางรถไฟสายเก่า หรือถนนปู่เจ้าสมิงพราย ไปตามแนวถนนสรรพาวุธ เข้าถนนสุขุมวิท หรือบางนา-ตราด และทิศตะวันตก ไปตามแนวถนนสุขสวัสดิ์ เข้าสู่ถนนพระรามที่ 2 มุ่งสู่ภาคใต้--จบ--