ไทย เจ้าภาพ จัดเวทีคณะอนุกรรมการภายใต้ JTEPA เดินหน้าข้อตกลงร่วมสินค้าเกษตร

ข่าวทั่วไป Thursday July 2, 2015 14:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ไทย เจ้าภาพจัดประชุมคณะอนุกรรมการร่วม ภายใต้ความตกลง JTEPA สศก. เผย ไทยเห็นพ้องร่วมญี่ปุ่น ปรับตารางข้อผูกพันการลดภาษีระหว่างกัน เป็นพิกัดศุลกากรปี 2012 พร้อมพิจารณาสินค้าที่ต้องการให้เปิดตลาดเพิ่มภายใต้ความตกลงร่วมกัน ระบุ ไทยเรียกร้องให้ญี่ปุ่นผ่อนปรนเงื่อนไขสินค้าทูน่า โดยสามารถใช้ทูน่าจากประเทศใดก็ได้ เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้ความตกลง JTEPA ณ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไทยและญี่ปุ่นเห็นพ้องที่จะปรับแก้ตารางข้อผูกพันการลดภาษีระหว่างกันจากพิกัดศุลกากรปี 2002 เป็นพิกัดศุลกากรปี 2012 และได้มีการแลกเปลี่ยนตารางข้อผูกพันการลดภาษีระหว่างกัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนออกประกาศและมีผลใช้บังคับของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณารายการสินค้าที่ต้องการให้เปิดตลาดเพิ่มเติมภายใต้ความตกลง JTEPA โดยไทยได้ยืนยันรายการสินค้าใน Request List ที่ได้เคยยื่นให้ญี่ปุ่นแล้ว (เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555) มีจำนวน 139 รายการ ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าที่ต้องนำกลับมาเจรจาใหม่ สินค้าที่มีโควตาภาษี และสินค้าที่ไม่นำมาลดภาษี โดยไทยได้ขอขยายโควตาการส่งออกไปญี่ปุ่นในสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกัดศุลกากร 1602.41 และ 1602.49) และ สินค้าเดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ช (พิกัดศุลกากร 0804.30) รวมทั้งขอให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดสับปะรดขนาดใหญ่กว่า 900 กรัม เพื่อสร้างสมดุลในการเปิดเสรีภายใต้ JTEPA ซึ่งญี่ปุ่นขอให้เจรจาในกลุ่มสินค้าที่นำกลับมาเจรจาใหม่เท่านั้น โดยสินค้าที่มีโควตาภาษี และสินค้าที่ไม่นำมาลดภาษี จะได้มีกำหนดเจรจาทบทวนในปี 2017 อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดสินค้ายานยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์สูงกว่าและต่ำกว่า 3,000 ซีซี ซึ่งไทยแจ้งว่าการเปิดตลาดสินค้าดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและห่วงโซ่อุปทานโดยรวมของประเทศ อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือโครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Institute Project: AHRDIP) ที่ผ่านมาของญี่ปุ่นยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้เคยกำหนดไว้ร่วมกัน ด้านการเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดในสินค้าทูน่ากระป๋อง ฝ่ายไทยได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นผ่อนปรนเงื่อนไขข้อกำหนดที่ว่าสินค้าทูน่าต้องได้จากเรือประมงที่ได้รับอนุญาตและจดทะเบียนกับคณะกรรมการปลาทูน?แห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission: IOTC) และคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (Western and Central Pacific Fisheries Commission: WCPFC) โดยสามารถใช้ทูน่าจากประเทศใดก็ได้ หรือทูน่าที่ได้จากเรือของประเทศสมาชิกใน IOTC และ WCPFC เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกสินค้า ทูน่ากระป๋องไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ