กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจง สถานการณ์ภัยแล้งดึงชะลอการทำนาปี เผย ไม่กระทบปริมาณผลผลิตมากนัก คาด ผลผลิตนาปีลดเหลือ 24.14 ล้านตันจากปีที่ผ่านมา เชื่อ การคลี่คลายของวิกฤติเศรษฐกิจโลกบวกกับมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง จะสะท้อนเศรษฐกิจภาคเกษตรดีขึ้นตามลำดับ พร้อมจับตามองรายงานของ Clina กับการผลิตภาคเกษตรใน 60 ปีข้างหน้าของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ว่า หลังจากที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ส่งผลต่อเนื่องถึงฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ในช่วงเวลานี้จะยังมีฝนตกน้อย และจะเริ่มตกชุกตามฤดูกาลในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ดังนั้น ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำจึงยังน้อยกว่าปกติมาก ทำให้ต้องประกาศให้ชะลอการปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลองออกไปก่อน จนกว่าถึงช่วงฝนตกชุกตามฤดูกาล
หากติดตามการรายงานสถานการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร ของสำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่เดือนต้นปี 2558 ประกอบกับเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและแบบจำลองเชิงพลวัตแล้ว จะพบว่า เอลนีโญมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรส่วนใหญ่สูงกว่าค่าปกติและขยายพื้นที่ไปทางตะวันออกมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยคาดหมายว่าความผิดปกติของอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกและระบบบรรยากาศในเขตศูนย์สูตรมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง และจะคงเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญตลอดปี 2558
จากปรากฎการณ์ดังกล่าว กอปรกับปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยมีผลผลิตทางการเกษตรทิศทางที่ลดลง นอกจากนี้ รายงานของ Clina (2007) ได้กล่าวถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อผลิตภาพการผลิตในภาคการเกษตรในช่วง 60 ปีข้างหน้าว่า จะส่งผลให้ผลิตภาพของภาคเกษตรในประเทศต่างๆทั่วโลก เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
ประเทศไทย ลาว อินเดีย ออสเตรเลียตะวันตกและเหนือ อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภาพการผลิตที่ลดลงมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศมาเลเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นกลุ่มประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภาพการผลิตที่ลดลงในช่วง 15 -25 เปอร์เซ็นต์ ประเทศออสเตรเลียตะวันออกและใต้ เป็นกลุ่มประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภาพการผลิตที่ลดลงในช่วง 5 -25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศจีน มีการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภาพการผลิตที่เป็นไปได้ทั้งลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ และ เพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่จำนวนมาก และประเทศนิวซีแลนด์ มีการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภาพการผลิตที่คงที่ถึงเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสหรัฐอเมริกาตอนเหนือ มีการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5 เปอร์เซ็นต์ ถึงมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์
ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อผลิตภาพการผลิตในภาคการเกษตรในช่วง 60 ปีข้างหน้า
กลุ่มประเทศ การเปลี่ยนแปลง(%)
ไทย ลาว อินเดีย ออสเตรเลียตะวันตกและเหนือ มากกว่า -25
มาเลเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย -15 ถึง -25
ออสเตรเลียตะวันออกและใต้ -5 ถึง - 25
จีน -5 ถึง +5
นิวซีแลนด์ 0 ถึง + 5
สหรัฐอเมริกาตอนเหนือ +5 ถึง มากกว่า 25
ที่มา : Clina (2007)
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า จากภาวะปกติของการปลูกข้าวนาปี ซึ่งจะให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 27 ล้านตัน โดยในปี 2558 สศก. มีการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวนาปีประมาณ 24.14 ล้านตัน จึงเห็นได้ว่าปริมาณการผลิตลดลงประมาณร้อยละ 11 ซึ่งการชะลอทำนาปีออกไปเป็นปลายเดือนกรกฎาคมนั้น อาจจะไม่กระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปีมากนัก และนวัตกรรมใหม่ๆของการปลูกข้าวได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอดกล่าวคือ พันธุ์ข้าวที่เกษตรกรใช้ปลูกนั้นเป็นพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อแสง เช่น พันธุ์ กข. พันธุ์ปทุมธานี พันธุ์ชัยนาท เป็นต้น สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี สามารถเลื่อนการปลูกออกไปได้ และมีความต้องการน้ำที่น้อยลง อีกทั้งเป็นการกระจายช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นระยะๆ ซึ่งถือว่าเป็นการส่งผลดีต่อราคาที่เกษตรกรขายได้อีกด้วย
นอกจากนี้ หากมาดูปัจจัยภายนอก พบว่า การคลี่คลายของวิกฤติเศรษฐกิจโลก เริ่มมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น เราไม่ได้เผชิญกับภาวะเงินฝืด แม้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อจะติดลบร้อยละ 1.27 แต่เงินเฟ้อที่ติดลบครั้งนี้เกิดจากปัจจัยการผลิตบางตัวทางด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง จึงส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ไทยได้ประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาก เพราะทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลง อีกทั้งการบริโภคภายในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐ ที่จะต้องเร่งสร้างให้เกิดการจ้างงาน การกระจายลงสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการน้ำอย่างมีระบบและให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) และราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะส่งผลทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนภายในประเทศเริ่มเกิดความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น สะท้อนไปยังกลุ่มสินค้าภาคเกษตรดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจะมีมาตรการ แนวทาง และนโยบายการเกษตรออกมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ทางการเกษตร การปรับโครงสร้างภาคการเกษตร เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอย่างเป็นรูปธรรม การประกันภัยพืชผลการเกษตรและมาตรการอื่นๆ หากมีการดูแลภาคการผลิตสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ รวมทั้งเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้นำเครื่องมือทางการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องไถนาแบบเดินตามมาจำนำกับสถาน ธนานุบาลก็ให้เข้าโครงการจำนำไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อเพิ่มเงินสดสำรองหมุนเวียน ซึ่งในภาพรวมจะส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจการเกษตรก็จะมีแนวโน้มที่ดีตามไปด้วย อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้พยายามเร่งสร้างรายได้นอกภาคเกษตรให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้ในส่วนภาคเกษตรกรที่หายไป อันที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของเกษตรกรในท้ายที่สุดอีกด้วย