กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในโครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" เพื่อให้แนวทางและเทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้สืบเสาะหาความรู้ด้วยตัวเองและเน้นการปฏิบัติ ซึ่งครูผู้เข้าอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชั้นเรียนของตนให้สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำร่องที่จังหวัดสมุทรปราการ สงขลา และขอนแก่น โดยมีครูทั้งหมด 481 คน จาก 187โรงเรียน เข้าร่วม ก่อนที่จะขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป โดยตั้งเป้าหมายฝึกอบรมครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์รวม 10,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการอบรมนี้ว่า "ครูมีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาและสร้างบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หากนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในบทเรียน พวกเขาก็จะเกิดแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาดังกล่าวต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยให้แนวทางและกลวิธีการจัดการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในบทเรียน รู้จักคิดวิเคราะห์ และมีทัศนคติที่ดีตลอดจนความมุ่งมั่นในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเริ่มที่จังหวัดสมทุรปราการ สงขลา และขอนแก่น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคุณครูในพื้นที่ที่เข้าร่วมการอบรมทั้งหมด 481 คน จาก 187 โรงเรียน"
"กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 900 ล้านบาท ที่เชฟรอน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกเชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือSTEM ตลอดทั้งระบบ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยในส่วนของการพัฒนาศักยภาพผู้สอน เรามุ่งพัฒนาครูในสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้ได้ 10,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปีของโครงการ และจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งสิ้นกว่า 500,000 คน"
คุณเกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการอาวุโสด้านวิชาการและโครงการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า"การอบรมนี้แบ่งออกเป็นการอบรมให้แก่ครูวิชาวิทยาศาสตร์และครูวิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้ระยะเวลาอบรมครั้งละ3 วัน มีจุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคนิคและทักษะการสอน ตลอดจนกระบวนการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้แก่ครู ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ทางทฤษฎีควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติ ที่จะช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจในบทเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในวิชาวิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนจะได้รับการพัฒนาทักษะกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ ที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งในส่วนของทฤษฎี และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฎิบัติ ตั้งคำถาม และการสรุปแนวความคิดหลักจากหลักฐานเชิงประจักษ์จาการทดลอง ส่วนในวิชาคณิตศาสตร์ ครูผู้สอนจะได้รับการถ่ายทอดแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจในหัวข้อต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ทั้งในเชิงทฤษฎีและกระบวนการหาคำตอบ ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์"
คุณสมนึก ผิวทอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 2 ซึ่งร่วมสังเกตการณ์การอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่า "ครูที่เข้าอบรมในครั้งการอบรมแบ่งออกเป็นห้องย่อย ทำให้ครูวิทยากรสามารถดูแลและตอบข้อซักถามของครูผู้เข้าอบรมได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น รูปแบบการอบรมที่เน้นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ ซึ่งเปิดโอกาสให้ครูได้ลงมือปฏิบัติตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยให้ครูมีความรู้เข้าใจในกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้สืบเสาะหาความรู้จากกิจกรรมมากกว่าการอธิบายจากครูแต่เพียงอย่างเดียว และสามารถนำไปปรับใช้กับห้องเรียนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และที่สำคัญ ยังช่วยสร้างเครือข่ายของครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการอบรมจะจบไปแล้ว อีกทั้งคุณครูที่เข้ารับการอบรมยังสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากการอบรมหรือเป็นที่ปรึกษาให้กับครูท่านอื่นได้อีกด้วย"
การอบรมครูด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" นอกจากมุ่งพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอนแล้ว ยังถือเป็นการสร้างเครือข่ายในการขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ STEM ในปีแรก ใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ขอนแก่น สงขลา และสมุทรปราการ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งระหว่างครูผู้สอนและนักเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาในสาขาSTEM อย่างยั่งยืนต่อไป