สธ.เตรียมพร้อมเวชภัณฑ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 50,000 ชุด

ข่าวทั่วไป Tuesday August 5, 1997 19:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--5 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมทั้งตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจที่ส่วนกลาง ติดตามรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเตรียมสำรองยาตำราหลวงและชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้ 60,000 ชุด พร้อมจัดส่งไปจังหวัดทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ
วันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข นายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยของกระทรวงสาธารณสุขว่า ตนได้สั่งการด่วนให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เวชภัณฑ์ และพาหนะ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงภายหลังน้ำลด และให้เฝ้าระวังติดตามรายงานสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยให้เน้นหนักเป็นพิเศษเรื่อง การป้องกันน้ำท่วมสถานบริการ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายคุรุภัณฑ์ ยา เวชภัณฑ์ อยู่ในที่ที่ปลอดภัย และเตรียมกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำพร้อมที่จะทำการได้ทันที หากเกิดน้ำท่วม นอกจากนี้ยังให้สถานบริการทุกแห่ง ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดให้อยู่ในสภาพพร้อมในการใช้งาน ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่อยู่เวรยาม ตลอด 24 ชั่วโมง
ทางด้านพลเรือตรีนายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในส่วนกลาง ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 5918591-3 เพื่อเป็นแกนกลางในการประสานงานกับภูมิภาค ในการให้ความช่วงเหลือ มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนจังหวัดที่ประสบภัยไว้ 50,000 ชุด และมีชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จะต้องใช้ประจำวันอาทิ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผงซักฟอก จัดเป็นชุด จำนวน 10,000 ชุด อีกด้วย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ทุกกรมวิชาการ เตรียมการให้การสนับสนุนแก่จังหวัดที่ประสบภัยในด้านต่าง ๆ โดยกรมอนามัย เตรียมติดตั้งระบบประปาสนาม แจกจ่ายน้ำสะอาดให้ประชาชน และทำความสะอาด เติมสารเคมีบ่อน้ำที่ถูกน้ำท่วม เพื่อปรับสภาพให้สู่ภาวะปกติ กรมควบคุมโรคติดต่อ ให้เตรียมยา เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เพื่อควบคุมโรคติดต่อที่มาพร้อมกับน้ำท่วม ที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัด โรคปอดบวม โรคผื่นคันผิวหนัง โรคตาแดง รวมทั้งเซรุ่มป้องกันพิษงู กรมสุขภาพจิตให้วางแผนฟื้นฟูสุขภาพจิตแก่ผู้ประสบภัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เตรียมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ปลอดภัย รวมทั้งขอรับบริจาคยา เวชภัณฑ์ และอาหารแห้ง ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วนกรมการแพทย์ให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ถูกน้ำท่วม
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับในกรณีที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่ ให้สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั้งในและนอกเวลาราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้เข้าถึงบริการตลอดเวลา และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปให้บริการแก่ผู้ประสบภัยถึงบ้าน โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีเรือท้องแบนสำหรับใช้ในกรณีน้ำท่วมแล้ว 55 ลำ กระจายอยู่ใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ