อินเทลเผยโฉม เพนเทียม ทรี ซีออน รุ่น 0.18 ไมครอนเทคโนโลยี สำหรับเซิร์ฟเวอร์และเวิร์กสเตชั่น

ข่าวเทคโนโลยี Monday November 8, 1999 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--8 พ.ย.--อินเทล คอร์ปอเรชั่น
อินเทล คอร์ปอเรชั่น เผยโฉมเพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์ ซึ่งพัฒนาจากเทคโนโลยีการผลิตแบบ 0.18 ไมครอน ซึ่งมีความเร็วสัญญาณนาฬิกาสูงขึ้น และมีคุณสมบัติใหม่ๆ ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงมีคุณสมบัติกินไฟต่ำ ขณะนี้มีวางจำหน่ายแล้วทั่วไป
การเปิดตัวโปรเซสเซอร์ดังกล่าวนับเป็นความก้าวหน้าในประวัติการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงของโปรเซสเซอร์ประมวลผลระดับเซิร์ฟเวอร์และเวิร์กสเตชั่น ของอินเทลที่มีสมรรถนะขั้นสูงสุด โปรเซสเซอร์ใหม่นี้มีเทคโนโลยีใหม่ คือ Advanced Transfer Cache (ATC) ซึ่งเป็นแคช L2 ขนาด 256KB ที่ฝังอยู่บนโปรเซสเซอร์หลัก (Integrated on-die 256KB L2 cache) ทำให้ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างแคช L2 ไปยังโปรเซสเซอร์หลักมีความเร็วเท่ากับความเร็วของตัวซีพียู มีช่วงจังหวะรอในการรับส่งข้อมูลต่ำ (Low Latency) ทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลของโปรเซสเซอร์รุ่นเดิมที่ใช้เทคโนโลยี 0.25 ไมครอน หรือเพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์รุ่น 0.18 ไมครอนมีสมรรถนะสูงกว่าเพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์รุ่น 0.25 ไมครอนร้อยละ 25 ในระดับความเร็วสัญญาณนาฬิกาเดียวกันที่ 600 MHz นอกจากการเผยโฉมเพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์ใหม่รุ่น 0.18 ไมครอนแล้ว อินเทลยังได้แนะนำอินเทล 840 ชิปเซ็ตสำหรับการใช้งานกับเวิร์กสเตชั่นและเซิร์ฟเวอร์ด้วยเช่นกัน
โปรเซสเซอร์สำหรับเวิร์กสเตชั่น และอินเทล 840 ชิปเซ็ต
อินเทล เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดครั้งนี้เพื่อเน้นตลาดระดับเวิร์กสเตชั่น โดยเพนเทียม ทรี ซีออนโปรเซสเซอร์ ที่วางตลาดมีให้เลือกในระดับความเร็วต่างๆ ได้แก่ 733, 667 และ 600 MHz เวิร์กสเตชั่นที่ใช้โปรเซสเซอร์ใหม่ของอินเทล และใช้อินเทล 840 ชิปเซ็ต จะมีคุณสมบัติและความสามารถในการทำงานที่โดดเด่น รวมทั้งมีซิสเต็ม บัส ความเร็ว 133 MHz, รองรับการทำงานของ 64-บิต PCI และการประมวลผลภาพกราฟิกสำหรับ AGP 2x/4x รวมทั้งสามารถรองรับหน่วยความจำ Direct RDRAM แบบคู่ ที่มีขนาดหน่วยความจำสูงสุดถึง 2 GB ผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่าทำให้ผู้ใช้ได้พบกับความก้าวหน้าของเวิร์กสเตชั่นรุ่นใหม่ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานเวิร์กสเตชั่นสามารถจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น ลดเวลาในการออกแบบระบบและช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โปรเซสเซอร์และชิปเซ็ตใหม่ล่าสุดนี้ เพิ่มสมรรถนะในด้านการประมวลผลของส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานด้านกราฟิก ทำให้ได้ภาพกราฟิกที่มีรายละเอียดสูงขึ้น มีการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลและภาพมีความคมชัดยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้สามารถสร้างภาพสำหรับการใช้งานบนอินเตอร์เน็ต (e-creation) และยังมีความยืดหยุ่นในการใช้งานรวมทั้งสามารถปรับขยายระบบให้สนับสนุนอี-บิสซิเนสที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย จึงช่วยให้นำเสนอภาพผลิตภัณฑ์บนอินเตอร์เน็ต รวมถึงการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้น
เพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์สำหรับเซิร์ฟเวอร์
อินเทล นำโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์แบบประมวลผล 2 ทาง โปรเซสเซอร์ใหม่ที่มีราคาย่อมเยานี้ช่วยให้อินเทล เพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์ สามารถนำเสนอโซลูชั่นที่เหมาะกับอี-คอมเมิรซ์ และการประมวลผลทางด้านธุรกิจ โปรเซสเซอร์นี้มีให้เลือกในรุ่นความเร็ว 733, 667 และ 600 MHz และได้รับการออกแบบมาให้สามารถปรับขยายความสามารถ มีที่ว่างสำหรับการเพิ่มหรือขยายระบบ และยังมีคุณสมบัติต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับแพล็ตฟอร์มอินเตอร์เน็ตเพื่อการพาณิชย์
เพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์ รุ่นใหม่ล่าสุดนี้มีคุณสมบัติ Advanced System Buffering, 256 KB Advanced Transfer Cache และซิสเต็ม บัส ขนาด 133 MHz รวมทั้งมีเทคโนโลยีที่ทำให้กินไฟต่ำ ซึ่ทำให้ระบบมีการทำงานที่เชื่อถือได้มากขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ภายในปี 2543 อินเทล มีแผนจะวางจำหน่ายแคชที่มีขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับสมรรถนะการประมวลผลแบบ 2 ทางที่เยี่ยมยอดที่สุด และยังมีที่ว่างสำหรับการขยายสมรรถนะให้เพิ่มมากขึ้นได้ด้วย ส่วน แพล็ตฟอร์มสำหรับเซิร์ฟเวอร์นั้นก็จะมีวางจำหน่ายพร้อมกับอินเทล 840 ชิปเซ็ต
การปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมใหม่สำหรับเพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์สำหรับคอมพิวเตอร์รุ่นต่างๆ
เพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์ใหม่ในปัจจุบันสำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์และเวิร์กสเตชั่นนี้ ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ Advanced Transfer Cache และ Advanced System Buffering ซึ่งส่งมอบสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเพนเทียม ทรี ซีออน โปรเซสเซอร์ที่ผลิตจากเทคโนโลยี 0.25 ไมครอนเมื่อเปรียบเทียบกันที่ความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่เท่ากัน
Advanced Transfer Caches หรือ ATC เป็นเทคโนโลยีของการนำแคช L2 ขนาด 256 KB ฝังลงบนตัวโปรเซสเซอร์หลัก (Integrated on-die 256 KB L2 cache) ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างแคช L2 ไปยังตัวโปรเซสเซอร์หลัก มีความเร็วเท่ากับความเร็วของตัวซีพียู มีช่วงจังหวะรอในการรับส่งข้อมูลต่ำ (Low Latency) ทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลของโปรเซสเซอร์รุ่นเดิมที่ใช้เทคโนโลยี 0.25 ไมครอน
ส่วนเทคโนโลยี Advanced System Buffering หรือ ASB เป็นเทคโนโลยีที่มีการเพิ่มบัฟเฟอร์ให้มีจำนวนมากขึ้นอย่างสมดุล ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องคอขวดให้น้อยลงได้ โดยมี fill buffer เพิ่มจาก 4 เป็น 6 (ส่งผลในการเพิ่มการทำงานของแคชด้าน concurrent non-blocking data เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50) ส่วน bus queue entries เพิ่มจาก 4 เป็น 8 (ทำให้มีการทำงานระหว่าง outstanding memory กับบัสมากขึ้น) นอกจากนี้ writeback buffer ยังเพิ่มจาก 1 เป็น 4 ด้วย (ส่งผลในการลดการบล็อกระหว่างขั้นตอน cache replacement ลง และทำให้ deallocation time สำหรับ fill buffers เร็วขึ้นด้วย) ขนาดต่างๆ ของบัฟเฟอร์เหล่านี้ จึงช่วยให้ใช้ประโยชน์จากซิสเต็มบัส แบนด์วิธ ขนาด 133 MHz ได้อย่างเต็มที่ และทำให้โปรเซสเซอร์หลักสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น
การผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีแบบ 0.18 ไมครอนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นของโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
เทคโนโลยี 0.18 ไมครอนของอินเทล ความก้าวหน้าครั้งสำคัญแห่งยุค
อินเทล เป็นผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์รายแรกของโลกที่เริ่มนำเทคโนโลยีแบบ 0.18 ไมครอนมาใช้ในการผลิตแบบจำนวนมาก โดยเริ่มการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยี 0.18 ไมครอนนี้แล้วในโรงงานผลิตจำนวน 4 แห่งทั่วโลก เทคโนโลยีการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ แบบ 0.18 ไมครอนนี้ มีขนาดเล็กกว่าความหนาของเส้นผมของคนเราถึง 500 เท่า ซึ่งนับว่ามีขนาดเล็กยิ่งกว่าแบคทีเรียหรือแสงที่สายตาของมนุนย์สามารถมองเห็นเสียอีก เทคโนโลยีใหม่ 0.18 ไมครอนของอินเทลนี้ ใช้การเชื่อมด้วยอลูมิเนียม 6 เลเยอร์ มีไดออกไซด์ของทองแดงในปริมาณต่ำ และยังใช้ศักย์ไฟต่ำเพียง 1.1 - 1.65 โวลต์เท่านั้น (ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่กินศักย์ไฟต่ำที่สุดในปัจจุบันใช้ศักย์ไฟที่ 1.35 โวลต์) ส่วนเทคโนโลยีการผลิตที่เล็กที่สุดได้แก่ขนาด 0.13 ไมครอน
อินเทลเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นผู้นำในวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลระบบเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำนำสมัย ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทอินเทลได้ที่เว็บไซต์ http://www.intel.com/th/thai
* เครื่องหมายและยี่ห้อเหล่านี้เป็นสมบัติของผู้เป็นเจ้าของ
* * สมรรถนะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เป็นการทดสอบโดยใช้เบนช์มาร์ก Ziff-Davis* CPUMark99 ค้นหา ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเบนช์มาร์กนี้ได้ที่ www.intel.com/proc/perf-- จบ--

แท็ก อินเทล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ