กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสุกรของชุนนุมสหกรณ์การปศุสัตว์ภาคตะวันออก โดยกองทุน FTA คืบหน้า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงผลติดตามในพื้นที่ ระบุ ช่วยหนุนสมาชิกสหกรณ์ประกอบอาชีพของตนเองได้ต่อเนื่อง พร้อมเตรียมรุกดำเนินการก่อสร้างเพิ่ม เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดแก่สหกรณ์แบบครบวงจรมากขึ้น
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสุกรของชุนนุมสหกรณ์การปศุสัตว์ภาคตะวันออก จำกัด โดยเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) เพื่อพัฒนาการเลี้ยงสุกรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรอยู่ได้ภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงพัฒนาการตลาดสุกร ลดการผันผวนของราคา โดยสหกรณ์ดำเนินการครบวงจรเพื่อเชื่อมโยงการส่งเสริมให้ความรู้แก่สมาชิกในการผลิต แปรรูป และมีการจำหน่ายผลผลิตคุณภาพตรงถึงผู้บริโภค
การดำเนินการของสหกรณ์ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การอบรมการเลี้ยงสุกร การแปรรูป การจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ การสร้างโรงฆ่าสัตว์ การจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสุกร ซึ่งโครงการนี้สามารถช่วยลดผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี โดยให้สมาชิกสหกรณ์ประกอบอาชีพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และสหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับผลผลิตที่สมาชิกผลิตได้ และแปรรูปเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคในราคายุติธรรม ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เกษตรกรจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเลี้ยงสุกรในช่วงนี้ ซึ่งเกษตรกรจะต้องนำรถบรรทุกน้ำมาสูบน้ำ/ซื้อน้ำให้สุกร ทำให้เป็นภาระและเพิ่มต้นทุนแก่เกษตรกร และราคาอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่ค่อนข้างแพง แต่เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาโดยการซื้อวัตถุดิบจากสหกรณ์ เพื่อผสมเองเป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเสริมว่า จากการติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า สหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ (สุกร) แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบการฆ่าสัตว์ โดยมีกำลังการผลิต 40 ตัว/วัน เพื่อรองรับสุกรขุนของสมาชิกที่ผลิตได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินการด้านการตลาดแก่สหกรณ์ ซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ครบวงจรมากขึ้น
ทั้งนี้ สหกรณ์ได้ดำเนินการจัดซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์คุณภาพดี ราคาเหมาะสมให้แก่สมาชิกที่มียอดการจำหน่ายกว่า 2,048 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 85 (เป้าหมาย 2,400 ตัน) และเตรียมการจัดตั้งเคาน์เตอร์จำหน่ายเนื้อสุกรอีกกว่า 30 จุด เพื่อกระจายผลผลิตคุณภาพที่ได้จากโรงฆ่าของสหกรณ์ ส่งตรงสู่ผู้บริโภคต่อไป หลังจากที่มีการเปิดโรงฆ่าสัตว์อย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้