กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท
ปัจจุบันโรคหัวใจ (Heart disease) เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุนั้น เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น การสูบบุหรี่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน อ้วนลงพุง ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด และพันธุกรรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกโดยจะรู้สึกเหมือนมีอะไรหนักๆ กดทับบริเวณกลางหน้าอก เยื้องไปทางด้านซ้าย บางรายอาจจะแน่นแล้วร้าวไปถึงหัวไหล่ แขน หรือจุกแน่นบริเวณคอหรือกราม หรือมีอาการจุกแน่นตรงยอดอกบริเวณลิ้นปี่ โดยอาการดังกล่าวสัมพันธ์กับการออกแรง เช่น ยกของหนัก หรือ ออกกำลัง โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการ "ฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ" เป็นวิธีการตรวจดูหลอดเลือดหัวใจว่าหลอดเลือดตีบหรือไม่ แต่ไม่ได้บอกการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดหัวใจถึงแม้จะเห็นว่าหลอดเลือดหัวใจดูปกติไม่ตีบ แต่อาจมีไขมันไปสะสมที่ผนังหลอดเลือด โดยที่การสะสมนี้อาจยังไม่มากพอที่จะให้เห็นการตีบจากการฉีดสี
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ทางการแพทย์ การสวนหัวใจ คือการทำหัตถการที่ใช้ได้ทั้งการ "ตรวจ" และ "รักษา" โรคหัวใจ การสวนหัวใจเมื่อพิจารณาให้ดีก็มีทั้งการสวนแบบย้อนทาง และแบบตามทางเดินของเลือด เพราะการสวนหัวใจคือการใส่สายสวน ซึ่งมีลักษณะคล้ายสายยางขนาดจิ๋วที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร ทำด้วยวัสดุที่นิ่มคล้ายสายยาง มีรูปร่างต่างๆ กัน การใส่สายสวนมีทั้งการใส่เข้าไปในหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำ หากใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดง จะต้องใส่สายสวนนี้ย้อนทางเดินเลือดไปเรื่อยๆ จนถึงหัวใจ จึงสามารถวัดความดันโลหิตในห้องหัวใจหรือหลอดเลือดรอบๆหัวใจที่ปลายสายสวนนั้นไปถึงได้ หรือบางครั้งอาจฉีดสารทึบรังสีเข้าไปที่บริเวณดังกล่าวเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อตรวจบริเวณหัวใจด้านซ้ายได้ด้วย นอกจากนี้การใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดดำ ก็สามารถค่อยๆ ใส่สายนี้กลับไปที่หัวใจทางหลอดเลือดดำ ตามทางเดินของเลือด เพราะเลือดดำคือเลือดที่ไหลกลับสู่หัวใจ ในการสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำนี้ แพทย์ก็สามารถวัดความดันและฉีดสารทึบรังสีที่หัวใจหรือหลอดเลือดรอบๆ หัวใจอีกด้านได้เช่นกัน
การสวนหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำผ่านทางหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำสามารถทำผ่านบริเวณที่ขาหนีบ ข้อพับแขนหรือข้อมือก็ได้ ขึ้นอยู่กับโรคที่ผู้ป่วยเป็นและความชำนาญของแพทย์ ในปัจจุบันนี้หลังการสวนหัวใจ ผู้ที่ถูกสวนหัวใจไม่จำเป็นต้องนอนถูกผูกขา เหยียดแขนเป็นเวลาหลายชั่วโมงเหมือนสมัยก่อน เพราะสายสวนมีขนาดเล็กลงมาก และปัจจุบันยังมียาและอุปกรณ์ที่ช่วยอุดผนังหลอดเลือดตรงบริเวณที่ถูกใส่สายสวนเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลอีกด้วย
ในการสวนตรวจหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจจะทำผ่านหลอดเลือดแดง ที่บริเวณขาหนีบ ข้อมือ หรือข้อพับที่แขน โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ คนไข้ไม่ต้องโดนวางยาสลบ ตอนเริ่มต้นจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ถูกฉีดยาชาเท่านั้น หลังจากนั้นผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บอีกเลยเพราะภายในหลอดเลือด ที่มีสายสวนอยู่นั้นไม่มีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกเจ็บปวด การสวนหัวใจเพื่อการตรวจทั่วๆไปจะใช้เวลาประมาณ 20 – 60 นาที หลังตรวจเสร็จแพทย์จะนำสายสวนออกจากตัวคนไข้ แล้วกดตรงบริเวณที่ใส่สายเข้าไปเพื่อให้เลือดหยุด หรือใช้ยาและอุปกรณ์เพื่อช่วยให้เลือดหยุดได้เร็วขึ้นก็แล้วแต่กรณี หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนในการตรวจ ส่วนมากแล้วผู้ป่วยก็สามารถดื่มน้ำและรับประทานอาหาร (ที่ต้องงดก่อนมาตรวจอย่างน้อย 6 ชั่วโมง) ได้ทันที
การตรวจในปัจจุบันเครื่องมือเอกซเรย์เป็นระบบดิจิตอล จึงทำให้แพทย์สามารถรู้ผลได้ในทันที ดังนั้นส่วนใหญ่หลังจากตรวจสวนหัวใจและฉีดสีแล้ว ก็สามารถสวนรักษาหลอดเลือดหัวใจที่อาจจะมีการตีบตันต่อไปได้เลย ถ้าผู้ป่วยได้รับการเตรียมพร้อม เพราะการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบันมักจะรักษาด้วยการทำบอลลูน ใช้ลูกโป่งขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดแทนการผ่าตัดทำบายพาส เนื่องจากการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดนั้นทำได้เร็วกว่า มีผลข้างเคียงน้อยกว่า ระยะพักฟื้นน้อยกว่า เสี่ยงน้อยกว่า โดยผลการรักษาทั้งในระยะสั้นและยาวไม่แตกต่างจากการทำผ่าตัดบายพาส
อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันและควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเค็มจัด ควบคุมน้ำหนัก ไม่เครียด งดการสูบบุหรี่ และที่สำคัญควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ กล่าวทิ้งท้าย