รมว.แรงงานฯ ย้ำ ปี 41-43 ลูกจ้างจ่ายสูงสุดแค่ 150 บาท

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 1998 11:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--2 ก.พ.--สปส.
รมว.แรงงานฯ ย้ำ ปี 41-43 ลูกจ้างจ่ายสูงสุดแค่ 150 บาท คุ้มถึง 4 อย่าง แถมไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินรักษาค่าพยาบาลยามเจ็บป่วย
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวว่า ขณะนี้กฎกระทรวงเรื่อง "การลดเงินสทบกองทุนประกันสังคม" ได้ประกาศใช้แล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ดังนั้น นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ที่เคยนำส่งเงินมทบในอัตรา 1.5% ของค่าจ้าง ก็จะนำส่งเพียง 1% ทั้งนี้ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้กำหนดอัตราเงินสมทบไว้ 2 อัตรา คือ
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 - 31 ธันวาคม 2543 ให้ทุกฝ่ายนำส่งในอัตรา 1%
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นไป ให้นำส่งในอัตรา 1.5%
รมต.แรงงานฯ ชี้แจงถึงเหตุผลที่ออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของนายจ้างและรายได้ของลูกจ้าง จึงมีการปรับปรุงเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าว
รมต.แรงงานฯ ยังกล่าวต่อไปว่า ผลจากกฎกระทรวงดังกล่าว ทำให้อัตราเงินสมทบสูงสุด สำหรับผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ลดลงจาก 225 บาท เหลือเพียง 150 บาท โดยสิทธิที่ได้รับยังคงเหมือนเดิมทุกประการ และที่ผู้ประกันตนห่วงว่าการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจะลดคุณภาพลงเพราะเก็บเงินสมทบน้อยนั้น ขอยืนยันว่าการลดเงินสมทบไม่กระทบต่อค่ารักษาพยาบาลเพราะในปี 41 สำนักงานประกันสังคมได้จ่ายค่ารักษาเหมาจ่ายเพิ่มแก่โรงพยาบาลในโครงการ จากเดิมเคยจ่ายในอัตรา 800 บาทต่อหัวต่อปี เป็น 1,000 บาท ต่อหัวต่อปี จึงไม่มีเหตุผลที่โรงพยาบาลจะลดมาตรฐานการรักษา--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ