กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๖ ก.ค. ๕๘) เวลา ๑๐.๓๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงานในพิธีเปิดโครงการ "สัมมนาเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Raising Awareness Conference on ASEAN Socio-Cultural Community)" โดยมีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ประเทศไทยและคนไทยจะได้อะไรจากการเป็นประชาคมอาเซียน" โดยมีผู้ร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย ผู้บริหารและบุคลากรของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ คน ณ ห้องราชา ๑-๒ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในเดือนธันวาคมปี ๒๕๕๘ นับเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสใหม่ของประเทศไทย ที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือและความเชื่อมโยงกันในมิติด้านการเมืองและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ประกอบด้วย ๓ ประชาคมหลัก ได้แก่ ๑)ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ๒)ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ๓)ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนให้มีทักษะและความสามารถ ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม มีสิทธิและความยุติธรรมทางสังคม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความรู้สึกเป็นหนื่งเดียวกัน และมีการจัดการเกี่ยวกับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งนี้ การดำเนินงานที่สำคัญของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้านให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคงทางสังคมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอันเนื่องมาจากการรวมตัวกันทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้มีความสำนึกเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม และมีสำนึกร่วมกันในอัตลักษณ์ของภูมิภาค และสร้างสำนึกของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มีความรับผิดชอบ อันจะนำไปสู่การสร้างให้ประชาคมอาเซียนเป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทรกัน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal Point) ของประเทศไทยในการดำเนินงานตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และเป็นหน่วยงานรับผิดชอบประเด็นความร่วมมือในด้านที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการดำเนินการในด้านการพัฒนามนุษย์การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม การส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิ การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และการลดช่องว่างการพัฒนา ซึ่งมีผลการดำเนินงานในภาพรวมของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน จากจำนวนทั้งหมด ๓๓๙ มาตรการ และสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้รายงานให้ทราบว่าได้มีการดำเนินกิจกรรมโครงการไปแล้วหรือดำเนินการใกล้จะแล้วเสร็จในระดับภูมิภาค ถึง ๓๓๘ มาตรการ (คิดเป็นร้อยละ๙๙.๗) และเหลือเพียง ๑ มาตรการ (คิดเป็นร้อยละ ๐.๓) คือการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาเยาวชนอาเซียน เพื่อประเมินผลที่ได้รับและประสิทธิภาพของโครงการเยาวชนต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อช่วยประเทศสมาชิกในการวางแผนกิจกรรมเยาวชนใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินการ สำหรับแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯนั้น มียุทธศาสตร์๓ ประเด็น ได้แก่ ๑)ดำเนินงานตามแผนการจัดประชาคมอาเซียนในส่วนภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ๒)พัฒนาการบริหารจัดการองค์กรและบุคลากรของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้มีความพร้อมในการดำเนินงานเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ๓)ส่งเสริมให้เครือข่ายเป็นหุ้นส่วนที่ดีในการขับเคลื่อนงานการดำเนินงานเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมเข้าสู่สังคมที่มีความหลากหลายยังถือเป็นการส่งเสริมบทบาท และการใช้โอกาสของประเทศไทย ในการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเป็นนโยบายเร่งด่วนของตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่มีนโยบายเร่งพัฒนาบุคลากรของกระทรวงฯ เตรียมความพร้อมของภาคประชาชน และบูรณาการข้อมูลด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานในส่วนของภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมที่จะขับเคลื่อนงานภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกองอาเซียน สำนักงานปลัดกระทรวงฯ จึงได้จัดโครงการ "สัมมนาเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Raising Awareness Conference on ASEAN Socio-Cultural Community)" ขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเป็นมาประโยชน์และความสำคัญ ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ตลอดจนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ให้แก่บุคลากรของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น