กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กกร. ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคม พบว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเครื่องยนต์ด้านการบริโภคยังพบสัญญาณการฟื้นตัวในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวยังคงรักษาโมเมนตัมเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง การลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายได้มากขึ้นและมีแนวโน้มเร่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้นในไตรมาส 3 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแรงตามความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง กอปรกับการส่งออกสินค้าหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า แม้จะยังคงรักษาขยายตัวในเกณฑ์ดีในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลียได้ต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนยังคงเปราะบางในช่วงครึ่งปีหลัง
กกร. ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้สาธารณะในประเทศกรีซ รวมทั้งการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ที่อาจเป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในระยะถัดไป ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าผลการตัดสินใจผ่านการทำประชามติของกรีซจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและภาคส่งออกไทยเพียงแค่ในระยะสั้น ดังนี้
1.ค่าเงินบาท – ผลกระทบในช่วงสั้นจะเป็นการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินตราของประเทศต่างๆ เนื่องจากถือเป็นค่าเงินที่มีความปลอดภัยสูง (safe haven) จากภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวและความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ในส่วนขณะที่ค่าเงินยูโรเองในช่วงที่ผ่านมาถือว่ารับข่าวร้ายเรื่องกรีซไปแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นค่าเงินบาทซึ่งถือว่าเป็นสกุลเงินที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ อาจถูกแรงขายและทำให้อ่อนค่าลงได้ในระยะสั้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร อย่างไรก็ตาม ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นและไม่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปได้มากในระยะยาวจากเหตุการณ์ดังกล่าว
2.ตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลไทย อาจประสบแรงขายอีกครั้งเพื่อปรับลดความเสี่ยงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของกรีซ ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับลดลงทั่วทั้งภูมิภาคในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนในสถานการณ์วิกฤติกรีซ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างประเทศได้ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นไทยไปแล้วจากช่วงต้นปีกว่า 7 หมื่นล้านและ 2 หมื่นล้าน ตามลำดับ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดจากเงินทุนไหลออกฉับพลันจากตลาดไทยนั้นคงมีแค่ในวงจำกัด
3. ด้านภาคการค้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มาก เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของไทยกับกรีซในปี 2558 มีเพียง 45 และ 131 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าส่งออกหลักไปกรีซ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและรถยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงเพียงร้อยละ 0.43 และ 0.06 ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย จึงคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง ว่าจะส่งผลในวงกว้างต่อการฟื้นตัวของคู่ค้าอื่นๆของไทยในกลุ่มยูโรโซน (สัดส่วนส่งออกร้อยละ 6) มากน้อยขนาดไหน
4. ด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มากเช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวจากกรีซที่มาไทยในปีที่ผ่านมามีเพียงร้อยลง 0.08 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดหรือราว 20,000 คนต่อปี เท่านั้น อีกทั้ง ไทยยังได้ห้นมาพึ่งพิงนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเซียมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและอาเซียน จึงทำให้ความเสี่ยงในด้านการท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ กกร. คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ลดลงจากการคาดการณ์ในไตรมาสที่แล้วที่ร้อยละ 3.5 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ปรับลดมุมมองเศรษฐกิจลงมาจากตัวเลขส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ทำให้ส่งออกมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 2 ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1
พร้อมกันนี้ กกร. สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ศุลกากร พ.ศ. ...เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมศุลกากรได้ดำเนินการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ และขัดกับการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานสากล
กกร. มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงให้มีความ
ทันสมัย และเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น และมีการแก้ไขในหลายประการที่สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้นำเข้า-ส่งออก เช่น การแยกฐานการกระทำความผิดตามมาตรา 27 เดิม ออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ การลักลอบหนีศุลกากร (ขนของเถื่อน) การหลีกเลี่ยงอากร (แจ้งพิกัดศุลกากรผิด) และการหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด (ผิดพลาดทางเทคนิค) รวมทั้งปรับปรุงอัตราโทษให้สอดคล้องกับฐานความผิดนั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอจุดยืนของ กกร.
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งยังขจัดอุปสรรคหลายประการที่มีความล้าสมัย และเพิ่มศักยภาพในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้าน Ease of Doing Business อันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในระยะยาว และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน
ร่างพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ครม.ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 กำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปี หรือมีข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
กกร.สนับสนุนร่างพระราชกฤษฎีกา และเห็นว่าควรมีผลบังคับใช้ให้เต็มที่เพื่อให้มีการทบทวนแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจสังคม
กกร. จะจัดสัมมนาเรื่องพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงหลักการโดยรวมของพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ....ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายไม่นานต่อจากนี้ และ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนของการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ....ด้วยกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่สร้างระบบหลักประกันขึ้นเพิ่มเติมจากหลักประกันประเภทการจำนองและการจำนำ โดยเป็นกฎหมายที่รองรับการนำทรัพย์สินอื่นๆ มาเป็นหลักประกัน ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสามารถใช้สอยทรัพย์สินต่อไปได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ไว้ต่อผู้รับหลักประกัน ทรัพย์สินอื่นๆ ที่ใช้เป็นหลักประกันตามกฎหมาย เช่น วัตถุดิบ สินค้าในคลังสินค้า สิทธิเรียกร้อง รวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการในการบังคับหลักประกันที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากการบังคับหลักประกันโดยทั่วไปและจะเป็นช่องทางใหม่ให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ กกร. หารือผลการสำรวจทัศนะจากหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2559และเห็นว่าไม่ควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ และควรให้ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด"พิจารณากำหนดการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามสภาพข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจและสังคมและความจำเป็นของแต่ละจังหวัด โดยไม่ต่ำกว่าง 300 บาท/วัน
กกร.ให้ความสำคัญเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 2/2558 ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โดยเน้นใน 2 ประเด็น คือ (1) "Ease of Doing Business" โดยจัดลำดับความเร่งด่วนของ 5กระบวนงานหลัก ได้แก่ การจัดตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การชำระภาษี กระบวนการนำเข้า-ส่งออก และ การทำ Visa & Work Permit// และ (2) การพัฒนา
คลัสเตอร์ (ตาม value chain)โดยได้คัดเลือก 7 คลัสเตอร์ เพื่อดำเนินการในระยะแรก ได้แก่ ข้าว อ้อย กุ้ง ยางพาราและไม้ยางพารา ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิสก์ และ ภาคการเงิน โดยผลรวมของมูลค่าทั้ง7 คลัสเตอร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.8 ต่อ GDPและมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5 ปีที่ร้อยละ 9.7 อย่างไรก็ตาม กกร.อยู่ระหว่างการพิจารณาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในรายคลัสเตอร์ เพื่อจัดแผนงานที่เป็น quick-win ในระยะ 1 ปี
กกร. นำคณะผู้แทนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจแห่งเอเชีย หรือ Asian Business Summit (ABS) ครั้งที่ 6ในวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2558 ที่กรุงโตเกียว ซึ่งจะมีผู้นำภาคธุรกิจเข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน จากประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย จำนวน12 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมประมาณ 3,425.60 ล้านคน
โดยในการประชุม ABS ครั้งที่ 6 นี้ ภาคเอกชนจะให้ลำดับความเร่งด่วนเรื่องการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการเจรจา FTA ต่างๆ ซึ่งต้องการให้ลดภาษีนำเข้าของสินค้า และส่วนประกอบ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตของสิ้นค้า และเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดvalue chain รวมทั้งผลักดันให้การการเปิดเสรีด้านการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการจ้างงาน การปรับปรุงด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เช่น ความโปร่งใสด้านกฎระเบียบภายในประเทศ และกระบวนงานต่างๆ จึงมีความสำคัญ ซึ่งสอดคล้อง กับ แนวทางการดำเนินงานของ กกร. ด้าน Ease of Doing Business และให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
หลังการประชุม ABS ครั้งที่ 6 เสร็จสิ้นแล้ว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (H.E. Mr. Shinzo Abe) จะให้เกียรติเข้ารับฟังรายงานผลการประชุม เพื่อรับข้อเสนอของภาคเอกชนเพื่อนำไปผลักดันในเวทีต่างๆ เช่น APEC, East Asia Summit เป็นต้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญในบทบาทของภาคเอกชนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย โดยรวม
กกร. จะเข้าร่วมประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น (Mekong-Japan Industryand Government Dialogue : MJ-CI) ครั้งที่ 8ซึ่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการรับลูกจากการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ที่กรุงโตเกียว เมื่อเร็วๆนี้ โดยการนำวิสัยทัศน์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 ตามที่ได้บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์โตเกียว ค.ศ. 2015 ไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะเสาหลักด้านความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ ด้านความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อส่งเสริมด้าน Ease of Doing Business ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรม ร่วมกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะทางด้านอาชีวะศึกษา และแรงงานฝีมือ เพื่อสนองตอบความต้องการแรงงานในลุ่มแม่น้ำโขง
กกร. หารือข้อร้องเรียนจากจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด เรื่องผลกระทบตามประกาศกำหนดข้อปฏิบัติ 15 ข้อ และหารือ แนวทางการผ่อนคลายตามข้อปฏิบัติดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดย กกร. จะนำเสนอเป็นเรื่องเร่งด่วน ต่อที่ประชุม กรอ. ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2558