กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Scale Asset Manager Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ 'Highest Standards (tha)' แนวโน้มอันดับบริษัทจัดการกองทุนมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับบริษัทจัดการกองทุน
อันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM สะท้อนถึงการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีและเป็นที่รู้จักในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย การมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง รวมถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต 'AA(tha)'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'F1+(tha)') โดย SCBAM ได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกองทุนรวมภายใต้การจัดการของ SCBAM ส่วนใหญ่ได้ถูกขายผ่านทางสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ SCBAM ยังได้รับประโยชน์จากการโอนสายงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านการกำกับและควบคุม และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคลากรและทรัพยากรในสายงานดังกล่าว
นอกจากนี้ อันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM ยังพิจารณาถึงการที่บริษัทมีผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรทางด้านการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ อันดับบริษัทจัดการกองทุนยังมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่บริษัทมีระบบการกำกับและควบคุมที่แข็งแกร่ง กระบวนการลงทุนที่เป็นระบบ และ IT ที่มีความพร้อมสูงและทรัพยากรที่มากมาย
ปัจจัยท้าทายหลักของ SCBAM คือ การเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ในขณะที่บริษัทพยายามให้ลูกค้าไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การเชื่อมต่อระบบปฏิบัติงานส่วนหน้า (front office) กับระบบบริหารจัดการความเสี่ยงหลังจากที่ได้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมาให้ดำเนินงานได้อย่างราบรื่น การรักษาผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารทุนให้ดีอย่างต่อเนื่อง และ ความพยายามในการรักษาระดับการเติบโตจากธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)
อันดับบริษัทจัดการกองทุนที่ 'Highest Standards (tha)' ของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆ ในการจัดอันดับที่แสดงไว้ด้านล่าง
บริษัทและบุคลากร: High
การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: Highest
การบริหารจัดการการลงทุน: High
การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุน: Highest
ประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยี: Highest
บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับภายในประเทศในหมวด 'Highest Standards (tha)' แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน ที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน
บริษัทและบุคลากร: SCBAM ได้รับประโยชน์จากผู้ถือหุ้นที่มั่นคงโดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ซึ่งทาง ธนาคารได้ให้ความสำคัญต่อธุรกิจการบริหารจัดการกองทุน และให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการปฏิบัติงานและทางด้านการเงิน SCBAM มีผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่หลากหลาย ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ กองทุนตราสารทุน กองทุนรวมดัชนี กองทุนที่ลงทุนในตราสารมากกว่า 1 ประเภท (asset allocation funds) กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน SCBAM มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดซึ่งวัดจากสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ในด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ SCBAM มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับสาม SCBAM ยังเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจกองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน
ทีมผู้บริหารของบริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจที่เพรียบพร้อม แม้ว่าหัวหน้าสายงานบางสายงานได้ลาออกในช่วงที่ผ่านมาแต่การบริหารงานยังคงมีความต่อเนื่อง โดยบริษัทได้เลื่อนพนักงานอาวุโสที่มีประสบการณ์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน
การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: SCBAM มีกรอบนโยบายการบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคลากรและประสบการณ์ คณะกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงของ SCBAM และฝ่ายบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานและความเสี่ยงด้านการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงจากปัจจัยตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้เพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการความเสี่ยงให้เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับทางสากลระดับโลก
การบริหารจัดการการลงทุน: กระบวนการจัดการการลงทุนของ SCBAM ถือว่ามีหลักการอย่างชัดเจน โดยมีบุคลากรทางด้านลงทุนที่เพียงพอ การวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึก การซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีหลักการ การติดตามและประเมินหลักทรัพย์ที่ลงทุนรวมถึงการบันทึกการตัดสินใจการลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยการตัดสินใจการลงทุนนั้นใช้การผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน การวิเคราะห์ทางเทคนิค การใช้บทวิเคราะห์และที่ปรึกษาจากภายนอก การลงทุนในตราสารหนี้ยังถือว่าเป็นจุดแข็งของบริษัทแต่ SCBAM มีความพร้อมในการเสนอกองทุนที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กองทุนที่ลงทุนในตราสารมากกว่า 1 ประเภท (asset allocation funds) กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม กองทุนหุ้นในแต่ละประเทศ และ กองทุนทริกเกอร์
การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุน: บริษัทมีกระบวนการปฏิบัติการการลงทุนที่ดี เนื่องจากมีทรัพยากรด้านการปฏิบัติการที่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณและความซับซ้อนของธุรกรรมการซื้อขาย การลงทุนในหลักทรัพย์ และ ลูกค้าของบริษัท การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุนดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนมาจากทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยี และทีมงานที่มีประสบการณ์สูง รวมถึงบุคลากรที่ได้แบ่งแยกตามสายงานอย่างชัดเจน การพัฒนาระบบ IT ในส่วนการปฏิบัติงานส่วนกลางและส่วนหลังให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในปี 2559 จะเป็นการเพิ่มทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีให้กับ SCBAM นอกจากนี้ SCBAM ยังได้รับประโยชน์จากระบบที่เชื่อมต่ออัตโนมัติที่อยู่ในระดับสูง ส่วนการเปิดเผยข้อมูลในรายงานที่เผยแพร่แก่ลูกค้าถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายใต้กฎข้อบังคับของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย และใกล้เคียงกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจัดการกองทุนอื่น
ประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยี: ในด้าน IT บริษัทได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีทรัพยากรทางด้าน IT จำนวนมาก และระบบที่เชื่อมต่ออัตโนมัติกันมากขึ้น หลังจาก SCBAM ได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบ IT ในส่วนการปฏิบัติงานส่วนหน้าในปี 2557 และ ระบบ IT ในส่วนบริหารจัดการความเสี่ยงในปี 2558 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการใส่ข้อมูลผิดพลาด บริษัทมีแผนที่จะเปลี่ยนระบบ IT ในส่วนการปฏิบัติงานส่วนกลางและส่วนหลังให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในปี 2559
SCBAM จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 และเป็นบริษัทจัดการกองทุนในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ สินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการของบริษัทมีมูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 SCBAM มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับที่ 2 ของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย โดยมีกองทุนที่มีความหลากหลาย SCBAM เป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำในธุรกิจกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับบริษัทจัดการกองทุนในอนาคต: อันดับบริษัทจัดการกองทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลง อัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือ กระบวนการการลงทุนและนโยบายการบริหารจัดการที่แย่ลง ทั้งนี้การเบี่ยงเบนที่มีสาระสำคัญของปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับจากหลักเกณฑ์ของฟิทช์ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับบริษัทจัดการกองทุนได้