กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 1/2558 พัฒนาการเชิงบวกของเศรษฐกิจภายในประเทศช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส3/2558 เป็นต้นไป สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศที่จะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3 นั้น หลักๆ มาจากแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย สถานการณ์ความไม่แน่นอนในกรีซ พร้อมแนะนำ 6 หุ้นดาวเด่น จากกลุ่มรับประโยชน์จากวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น
นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด(SCBS) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในไตรมาสที่ 2/2558 อ่อนตัวลงมากกว่าที่คาด โดยปรับตัวลดลง 4.7% จากจุดสูงสุดในไตรมาสเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้มีแนวโน้มที่อ่อนตัวลงมากนัก นอกเหนือกว่านั้นเราได้เล็งเห็นการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในบางด้าน และเชื่อว่าอัตราการขยายตัวได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี เห็นได้จากการอุปโภคบริโภคที่ไม่รวมกลุ่มยานยนต์และการลงทุนภาคเอกชนเติบโตในระดับที่น่าพอใจ ประกอบกับการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังได้รับแรงสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง อยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อปี ซึ่งจะส่งผลช่วยในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สมดุลมากขึ้น สำหรับปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถขยายตัวได้ 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ตลาดหุ้นกลับมาคึกคักอีกรอบนั้น นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ดีขึ้นในปีนี้และปีหน้าแล้วจะมาจากส่วนของความคืบหน้าเรื่องการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและความ คืบหน้าของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะสามารถเดินหน้าตามแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนได้สำเร็จภายในระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3/2558 จะเป็นไตรมาสที่ท้าทายสำหรับตลาดหลักทรัพย์ไทย เนื่องจากได้รับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นในการประชุมวันที่ 28 - 29 กรกฏาคมนี้ โดยมีโอกาสสูงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ไหลเข้าสู่ สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้วิกฤตหนี้ในกรีซไม่น่าจะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ และโรคไวรัสเมอร์ยังคงสร้างความกังวลต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
"ตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะปรับตัวลงแรง แต่นักลงทุนควรต้องเตรียมรับความผันผวนในไตรมาสที่ 3 เพราะแม้ว่าปัจจัยลบส่วนใหญ่จะถูกรับรู้ไปแล้ว และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นสัญญาณที่แสดงถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น จึงมีผลทำให้ตลาดอาจปรับตัวในระยะสั้น แต่หลังจากนั้นไม่นานนักก็จะฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังมีความอ่อนไหวต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน้อยลงเมื่อเทียบตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากเงินทุนต่างชาติจำนวนมากไหลออกไปจากตลาดหุ้นไทยแล้วตั้งแต่เฟดเริ่มปรับลดเม็ดเงิน ในมาตรการ QE"
สำหรับหุ้นดาวเด่นที่ SCBS แนะนำในไตรมาสที่ 3/2558 เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบด้วย
บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล 5.8% และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ กำไรสามารถเติบโตได้ถึง 10% แม้ไม่มีบริการ 4G
บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) (AEONTS) ราคาถูกสุดในกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้วย PER 8.7 เท่า และ EPS โต 12% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น การตั้งสำรองน้อยลง ต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเติบโต ในอัตราที่ชะลอลง
บมจ.ซีพี ออลล์ ด้วยมี EPS เติบโตสูง (33% ในปี 2558) และมี Upside จากการขายหุ้นบางส่วนใน MAKRO
บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) เป็นหุ้นพื้นฐานดีแต่ราคาขึ้นน้อยกว่าตลาด (Laggard) ที่กำไรฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากยอดขายสาขาเดิมที่เพิ่มขึ้น การขยายสาขา และอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น
บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นหุ้น Laggard ซื้อขายที่ระดับ PBV เฉลี่ยในอดีต -1SD และราคาหุ้นที่ลดลง15% สะท้อนถึงความกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับ NPL และ NIM
บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ด้วยบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ กำไรจะฟื้นตัวในปี 2558 และเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2559 เนื่องจากบริษัทได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม
สำหรับผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2558 จะเติบโตจากฐานที่ต่ำในปี 2557 จากราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวดีขึ้น ช่วยสนับสนุนให้กำไรโดยรวมเติบโตสูงถึง 27% ในปีนี้ และจะชะลอตัวลงสู่ 15% ในปี 2559 กลุ่มที่คาดว่าจะรายงานกำไรเติบโตสูงที่สุด คือ กลุ่มที่มีกำไรเติบโตต่ำในปีก่อน ได้แก่ ประกัน ขนส่ง ปิโตรเคมี ท่องเที่ยว พลังงาน และ อาหาร โดยคาดว่า กลุ่มสื่อ จะมีกำไรหดตัวลง สาเหตุจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นทำธุรกิจดิจิทัลทีวี ในขณะที่กำไรของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ในระดับทรงตัว