กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีผู้พิการทางสายตาจำนวน 746,549 คน หรือร้อยละ 39.2 ของคนพิการทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากและเพิ่มขึ้น นักศึกษาโครงการร่วมบริหารหลักสูตรศิลปบัณฑิตสาขาวิชามีเดียอาตส์และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขามีเดียอาตส์ คือ น.ส.ธัชพรรณ จีนเวชศาสตร์ น.ส.ปพิชญา รอดแผ้วพาล และ น.ส.วรรณวดี เหลืองสุทธิพันธ์ ได้เห็นปัญหานี้และรวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคม และเพิ่มความสะดวกสบายในการบริการด้านเภสัชกรรมให้แก่ผู้พิการทางสายตามากขึ้น ผ่านผลงาน "การออกแบบฉลากยาสามัญประจำบ้านสำหรับผู้พิการทางสายตา" ซึ่ง ธัชพรรณ หนึ่งในทีมกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่า โดยปกติแล้วยาที่ผู้พิการทางสายตาสามารถทานเองได้ก็คือยาสามัญประจำบ้าน แต่ทุกครั้งจะต้องให้คนที่มีสายตาปกติหยิบให้ จึงคิดออกแบบฉลากยาที่ผู้พิการทางสายตาสามารถเลือกทานได้โดยการช่วยเหลือตัวเอง
"ผู้พิการทางสายตาหรือตาบอดมีทั้งบอดเลือนราง และบอดสนิท ซึ่งที่เรารู้กันคือคนเหล่านี้ต้องเรียนรู้การอ่านอักษรเบล แต่การอ่านอักษรเบลนั้นไม่ง่ายนักและยังมีคนตาบอดอีกมากที่ยังอ่านอักษรเบลไม่ออก ดังนั้นเราจึงทำฉลากยาขึ้นมาในรูปแบบสติ้กเกอร์ที่มีสัญลักษณ์ลายเส้นกราฟิกนูนแบบต่างๆ เพื่อนำไปแปะกับซองหรือขวดยาสามัญประจำบ้านแต่ละประเภท เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเลือกรับประทานยาได้ด้วยตัวเองจากการจำสัญลักษณ์นั้นๆ"
ทางด้าน ปพิชญา กล่าวเสริมว่า ออกแบบสัญลักษณ์ต่างๆ โดยนำหลักทฤษฎีทัศนธาตุและองค์ประกอบศิลป์มาประยุกต์ใช้ โดยนำความหมายของเส้นมาโยงเข้ากับอาการเจ็บป่วย เช่น ยาแก้เมารถ ออกแบบฉลากที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งแบบก้นหอย เป็นเส้นที่มีลักษณะหมุนวน สื่อถึงอาการวิงเวียนศีรษะ ยาแก้ลดไข้ ออกแบบฉลากยาที่มีลักษณะเป็นเส้นประมีความหมายถึงความไม่ต่อเนื่อง และความเครียด สื่อถึงอาการปวดหัว ตัวร้อน หรือคั่นเนื้อคั่นตัว และยาธาตุน้ำขาว ออกแบบฉลากให้มีลักษณะเป็นเส้นซิกแซ็ก เป็นเส้นที่มีความหมายไม่ราบเรียบ การเคลื่อนไหว ความรุนแรง สื่อถึงอาการปวดท้องหรือแสบท้อง
ส่วนวรรณวดี กล่าวทิ้งท้าย ว่า หลังจากออกแบบฉลากยาเรียบร้อยแล้ว ได้นำไปทดลองใช้กับผู้พิการทางสายตาในสถานที่ต่างๆ อาทิ โรงเรียนพระมหาไถ่ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการที่บางขุนเทียนและนครปฐม เพื่อทดสอบเกี่ยวกับการใช้งาน 3 ส่วน คือ ความนูนของสัญลักษณ์เพื่อให้ง่ายต่อการสัมผัส ขนาดของเส้น และลักษณะของสัญลักษณ์ต่างๆ และเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำจึงมีการแบ่งยาสามัญประจำบ้านเป็น 4 หมวดที่สำคัญตามหลักเภสัชกรรม คือ ยาที่เกี่ยวกับอาการปวดท้อง การขับถ่าย กลุ่มยาบรรเทาอาการ และระบบทางเดินหายใจ โดยแบ่งเป็น 9 ตัวยาต่อ 1 หมวดหมู่ ซึ่งในอนาคตมีโครงการที่จะนำฉลากยาเหล่านี้ไปมอบให้กับผู้พิการทางสายตาทั้ง 3 แห่งที่กล่าวไว้ข้างต้นด้วย
นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจ คือ "การสร้างสีหุ่นจำลองยางพาราจากกากกาแฟให้ใกล้เคียงกับสีผิวคนไทย" โดย น.ส.พรจิตร ยอดเอม น.ส.อลิสรา สุทธิทรัพย์ น.ส.สุจิตรา นิยม และ น.ส.สุธินี ใจวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ มจธ. โดย สุจิตรา กล่าวว่า ในประเทศไทยก็มีหลายแห่งที่ทำหุ่นจำลองขึ้นมาใช้เองแต่ส่วนใหญ่จะใช้สีสังเคราะห์ซึ่งหากสูดดมเป็นเวลานานก็อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ หรือมะเร็งปอดได้ ดังนั้นจึงคิดที่จะนำกากกาแฟมาใช้ในการทำหุ่นจำลองสำหรับการแพทย์เพื่อให้มีสีใกล้เคียงกับสีผิวคนไทยมากที่สุด โดยใช้กากกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าเนื่องจากจะให้สีที่อ่อนกว่าโรบัสต้าและนำมาผสมเข้ากับรากยอซึ่งเป็นพืชที่ให้สีแดงโดยไม่ทำปฏิกิริยากับยางพาราเพื่อให้ได้สีที่ไม่เข้มเกินไป ผสมเข้ากับยางพาราในสัดส่วนต่างๆ และหล่อด้วยแม่พิมพ์รูปอวัยวะส่วนที่ที่ต้องการ พบว่าได้หุ่นจำลองที่มีสีผิวใกล้เคียงกับผิวคนไทยถึง 3 ระดับ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจากสถาบันโรคผิวหนังเป็นผู้ให้คำแนะนำ โดยสีของกากกาแฟจะเข้มขึ้นเมื่อโดนความร้อน และสีจะคงตัวใน 2 สัปดาห์ ส่วนยางจะหดตัว 20 เปอร์เซ็นต์หลังจากออกจากเตา 3 วัน และจะคงสภาพไปอีก 4-5 เดือน แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะต้นทุนไม่สูงและทำให้สถาบันการศึกษามีอุปกรณ์รองรับการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึง
"ทุกวันนี้มีคนเดินเข้าร้านกาแฟเพื่อสั่งกาแฟดื่มจำนวนมากเราจึงนำกากกาแฟที่เหลือทิ้งทุกวันมาสร้างสีหุ่นจำลองได้อย่างเสมือนสีผิวคนจริงๆ และกากกาแฟยังมีคุณสมบัติดูดกลิ่นของยางพาราได้ดี ช่วยให้หุ่นจำลองที่เพิ่งหล่อแห้งเร็วขึ้นกว่าเดิม ทนทาน และที่สำคัญไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนเรื่องสีปกติแล้วหุ่นจำลองจะถูกทำขึ้นเพื่อให้นักศึกษาแพทย์หรือพยาบาลใช้ระหว่างการเรียน เช่น ฝึกการฉีดยา เจาะเลือด หรือเย็บแผลก่อนที่จะลงมือกับคนไข้จริง ดังนั้นสีผิวของหุ่นจำลองที่ใกล้เคียงกับสีผิวคนมากนั้นมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ฝึกทำให้เกิดความคุ้นเคยและลดความตื่นเต้นก่อนที่จะปฏิบัติกับคนไข้จริงๆ และยิ่งไปกว่านั้นหุ่นจำลองยางพารามีเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับผิวมนุษย์กว่าซิลิโคน และทนทานต่อการใช้งานซ้ำแล้วซ้ำอีกมากกว่าซิลิโคน และที่สำคัญการทำหุ่นจำลองยางพาราที่ใช้สีจากกากกาแฟหนึ่งแขนใช้งบประมาณเพียงสองร้อยบาทกว่าเท่านั้น เมื่อเทียบกับการนำเข้าหุ่นซิลิโคนที่มีราคาสูงถึงชิ้นส่วนละสองพันกว่าบาท"
และนี่เป็นเพียงตัวอย่างผลงานของนักศึกษามีเดียร์อาตส์ มจธ. เพียงไม่กี่ชิ้นที่ถูกนำมาเผยแพร่ แต่ยังมีอีกหลายผลงานที่เป็นที่น่าสนใจสำหรับทุกวงการที่ต้องอาศัยรูปแบบและเครื่องมือในการสื่อสารให้เท่าทันในยุคนี้