อาหารพร้อมปรุง...ปลอดภัยจริงหรือ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 9, 1997 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--9 ก.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจอาหารพร้อมปรุงที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า 12 แห่งทั่วกรุงเทพ พบอาหารพร้อมปรุงบางอย่างมีการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในด้านการบริโภค ทำให้อาหารพร้อมปรุงที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น อาหารพร้อมปรุงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีผักประกอบอยู่ด้วยเกือบทุกอย่าง ซึ่งผักบางอย่างอาจจะมีปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ รวมทั้งมีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรนำมาใช้ในขั้นตอนการเพาะปลูก ซึ่งหากไม่มีกรรมวิธีผลิตที่สะอาดก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษเหล่านั้น ถึงแม้จะมีการลดปริมาณลงได้บ้างเมื่อนำมาปรุงสุกก็ตาม แต่การรับสารพิษเป็นประจำของผู้บริโภคที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือหากร่างกายทำลายสารพิษได้น้อยก็จะเกิดการสะสมของสารพิษจนมีผลเรื้อรังและเป็นอันตรายได้ภายหลัง
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างอาหารพร้อมปรุงที่มีผักเป็นส่วนประกอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งได้เก็บจากห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 12 แห่ง รวม 47 ตัวอย่าง จากการตรวจวิเคราะห์พบการตกของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรวม 13 ชนิดได้แก่ ไซเปอร์มีทริน เอ็นโดซัลแฟน คาร์โบฟูแรน เฟนวาริเนท เม็ทธามิโดฟอส บีพีเอ็มซี คาร์บาริล เม็ทโธมิล โปรฟีโนฟอส ไดโคฟอล เม็ทไธโอคาร์บ โปรโปรซัวร์ และเตตร้าไดฟอน ถึงร้อยละ 68 ของอาหารที่ส่งตรวจ สารเคมีชนิดที่ตรวจพบว่ามีการตกค้างในปริมาณสูง ได้แก่ โปรฟีโนฟอส ซึ่งตรวจพบในตัวอย่างคะน้าหมูกรอบและผัดซีอิ้ว ปริมาณที่ตรวจพบคือ 0.36 และ 0.66 มิลลิกรัมต่อหนึ่งถาดโฟม ถ้าคำนวณเป็นปริมาณที่ผู้บริโภคจะได้รับต่อคนที่น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม กรณีรับประทานทั้งครอบครัว 4 คน ต่อ 1 ถาดโฟม จะได้รับสารนี้คนละประมาณ 1.81 และ 3.3 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวคน 1 กิโลกรัม แต่หากรับประทานเพียงคนเดียวจะได้รับสารนี้สูงถึง 7.25 และ 13.16 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้บริโภคมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการได้รับสารพิษและมีอันตรายต่อสุขภาพ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้บริโภคต้องการซื้ออาหารพร้อมปรุงไปปรุงสุกที่บ้าน ควรจะนำผักในอาหารดังกล่าวไปล้างให้สะอาดก่อนนำไปปรุงก็จะช่วยลดปริมาณสารพิษลงได้อีกมาก สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารพร้อมปรุงควรเลือกสรรผักที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นผักสดที่ให้ความเชื่อมั่นว่าไม่พบสารพิษตกค้าง หรือมีสารพิษตกค้างในปริมาณที่ปลอดภัย เช่น ผักมีฉลาก "ปลอดภัยจากสารพิษ" เมื่อเลือกผักแล้วควรนำไปล้างด้วยน้ำสะอาดและผึ่งให้ผักสะเด็ดน้ำก่อนแปรรูป จะเป็นการช่วยลดสารพิษได้อีก และจะทำให้อาหารสดอยู่ในชั้นจำหน่ายได้นาน สิ่งเหล่านี้หากผู้ประกอบการให้ความเอาใจใส่และรับผิดชอบในการผลิตอาการที่ปลอดภัยถือได้ว่าเป็นการคืนกำไรแก่ผู้บริโภค จะทำให้ขายสินค้าอาหารได้จำนวนมากแม้ว่าผักเหล่านี้จะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าผักทั่วไปก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับราคาของอาหารพร้อมปรุงที่มีราคาสูง และผู้บริโภคให้ความมั่นใจว่าสะอาดปลอดภัยก็น่าจะคุ้มกับการลงทุน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ