กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
เมื่อเร็วๆ นี้ สกย. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ร่วมแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิ์ด้านที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้เดือดร้อนในอุทยานแห่งชาติบูโดและสุไหงปาดี ทางหน่วยงานรัฐได้เร่งสำรวจและดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ จากคณะกรรมการและคณะแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร มีเกษตรกร 5 ราย ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน คิดเป็นพื้นที่กว่า 32 ไร่ เป็นความร่วมมือระหว่างราษฎรและหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม
นายบุญสืบ สังข์อุบล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เรื่องพื้นที่ทำกินที่ขาดเอกสารสิทธิ์ของเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโดและสุไหงปาดีเป็นปัญหามานานแล้ว ซึ่งตอนนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ทำกินของเกษตรกร ที่ทางรัฐบาลมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปสำรวจรังวัด เพื่อที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้ที่ทำกินแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ดังนั้น เมื่อเข้าสู่หลักการอย่างถูกต้องเกษตรกรก็จะสามารถขอรับการสงเคราะห์ปลูกแทนได้ และทาง สกย. จ.นราธิวาส ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลและให้การส่งเสริมปลูกยางพาราอย่างถูกต้อง ได้ลงพื้นที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโดและสุไหงปาดี พบว่า มีเกษตรกร จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายมะดือแระ เยะตูเก น.ส.นารีมาน รีกาซอ นางสีตีลีเยาะ กาเจร์ น.ส.ฮูซัยนะห์ วันมูฮำหมัด และ น.ส.มัณฑนา ตาเห รวมพื้นที่ได้รับอนุญาติให้สามารถทำมาหากินได้ เพื่อประกอบอาชีพการทำสวนยางเป็นหลัก รวมทั้งสิ้น จำนวน 32 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ทั้งนี้ เกษตรกรทั้ง 5 ราย จะได้รับหนังสือประจำตัวผู้ได้รับการสงเคราะห์ปลูกแทน โดยการสงเคราะห์ปลูกแทนครั้งนี้เป็นการปลูกแทนแบบผสมผสาน ซึ่งจะมีการปลูกพืชอื่นๆ ร่วมในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายบุญสืบ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบาเจาะ ที่ยื่นขอรับการสงเคราะห์ อีก 6 ราย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนขอสำรวจรังวัดจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพิจารณาเพื่อให้การอนุมัติ ซึ่งทาง สกย.จ.นราธิวาส จะคอยประสานงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีอาชีพทำสวนยางอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป