กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเวชสำอางนาโนจากสารสกัดเมล็ดองุ่น เทคโนโลยีการถ่ายภาพและวิเคราะห์การทำงานภายในเซลล์แบบรวดเร็ว และเครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกระดับเกษตรกร เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 52 ปี
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 52 ปีของ วว. มีความภาคภูมิใจในการเปิดตัวผลงานใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ดังนี้
ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดเมล็ดองุ่นไทย ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ดำเนินโครงการ "วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารชีวภาพจากกากเมล็ดองุ่นไทย" ภายใต้งบสนับสนุนการวิจัยจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ปีงบประมาณ 2556-2558 ประสบผลสำเร็จในการสกัดสารพฤกษเคมี Oligomeric Proantho Cyanidin (OPCs) จากกากเมล็ดองุ่นพื้นเมืองไทย Vitis vinifera cv. Ribier (ป๊อก-ดำ Pok Dum) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ มีอนุภาพสูงกว่าวิตามินซี 20 เท่า และสูงกว่าวิตามินอี 50 เท่า กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือด ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง และช่วยเสริมฤทธิ์ให้กับวิตามินซี
จากความสำเร็จดังกล่าว วว. นำสารสกัดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณเชิงป้องกันโรคและความงามของผิวพรรณ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดเมล็ดองุ่นไทยโดยใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชัน ในเบื้องต้นได้พัฒนาสูตรเครื่องสำอางนาโนต้านความแก่ (nano anti-aging cream) ฟื้นฟูผิวหน้า ภายใต้ชื่อ "วีทริสตร้า VITISTRA" ประกอบด้วย 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ครีมสำหรับปกป้องผิวหน้าในเวลากลางวัน (VITISTRA Day Cream) และครีมสำหรับฟื้นฟูผิวหน้าในเวลากลางคืน (VITISTRA Night Cream) ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ผ่านการประเมินความปลอดภัยแล้ว นอกจากนี้ วว. ยังได้ร่วมมือกับ สถาบันนวัตกรรมสุขภาพ ผิวพรรณความงาม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพมหานคร ในการร่วมประเมินประสิทธิผลของเครื่องสำอางนาโนวีทริสตร้า ต่อการต้านริ้วรอย ลดจุดด่างดำ และเพิ่มความชุ่มชื้นผิวบนใบหน้าในอาสาสมัครจำนวน 40 ราย
เทคโนโลยีการถ่ายภาพและวิเคราะห์การทำงานภายในเซลล์แบบรวดเร็ว (High Content Incell Analysis) เป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพทางชีวโมเลกุลในระดับเซลล์ โดยมีหลักการคือการติดตามถ่ายภาพของเซลล์จากสารเรืองแสงที่มีความจำเพาะต่อเซลล์ทั้งในระดับ cellular และ sub cellular รวมถึง genetic material วิธีการนี้สามารถติดตามการทำงานของเซลล์ได้ทั้ง 1.รูปร่างลักษณะของเซลล์ 2.ฟังก์ชั่นการทำงานของเซลล์ 3.สามารถเห็นถึงปริมาณของสารชีวโมเลกุลที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ 4.สามารถติดตามการทำงานของการแบ่งตัวและการเคลื่อนที่ของเซลล์ได้ในภาวะที่มีชีวิต (live cell) 5.สามารถถ่ายภาพได้ในปริมาณมากด้วยเวลาอันรวดเร็ว ถ่ายภาพได้ถึง 384 ตัวอย่างในครั้งเดียว จึงเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ในการวิจัยทั้งทางเภสัชวิทยา พิษวิทยาและชีวการแพทย์เป็นอย่างมาก ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติได้เริ่มทำงานวิจัยและเผยแพร่ผลงานจากการใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว พร้อมนี้ยังเปิดให้บริการวิจัยผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาแก่นักวิจัยภายนอกหรือภาควิจัยเอกชนที่สนใจด้วย
เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือก ระดับเกษตรกร ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. วิจัยและพัฒนาเครื่องดังกล่าวสำเร็จ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดความชื้นข้าวเปลือกช่วงฤดูฝน เครื่องฯ มีความสามารถในการลดความชื้นข้าวเปลือก จากค่าความชื้นเริ่มต้น 20 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 14 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้ระยะเวลาเพียง 3 ชั่วโมง มีกำลังการผลิตสูงสุด 2 ตันต่อวัน ใช้พลังงานความร้อนจากแก๊สแอลพีจี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้อบ เพื่อลดความชื้นธัญพืชหรือสมุนไพรอื่นๆ ได้หลากหลาย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ข้าวโพด กาแฟ ขิง ข่า ขมิ้น เป็นต้น นับเป็นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้หลักการออกแบบง่ายๆที่ไม่ซับซ้อน ประหยัดพลังงาน แต่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง และได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพ
สอบถามรายละเอียดได้ที่ Call center วว. โทร. 0 2577 9300 หรือที่ E-mail : marketing_tistr@tistr.or.th