กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๙ ก.ค.๕๘) เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่บริเวณที่ทำการศูนย์พัฒนาชาวเขาจังหวัดน่าน ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการแก้ไขปัญหาสังคมจังหวัดน่าน และผลักดันการบูรณาการการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน "น่าน Model"
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการแก้ไขปัญหาสังคมที่จังหวัดน่านครั้งนี้ พบว่า พื้นที่จังหวัดน่านเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่าน ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา การบุกรุกพื้นที่ป่ายังคงมีเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจกระตุ้นให้มีความต้องการหาที่ดินทำกิน และที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น ตลอดจนพื้นที่ทำกินมีน้อย ผืนป่าจึงถูกบุกรุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสียหายจากการทำไร่หมุนเวียน การบุกรุกพื้นที่สูงชัน การเกิดภัยแล้ง การเกิดไฟป่า และปัญหาหมอกควัน การพังทลายของหน้าดิน และปัญหาอุทกภัย เป็นต้น จากสภาพปัญหาดังกล่าว จึงมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน "น่าน Model" ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการบนพื้นที่สูงเพื่อการรักษาป่าต้นน้ำ มีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จังหวัดน่าน และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มีเป้าหมายเพื่อให้ราษฎรบนพื้นที่สูง (จำนวน ๒๐.๘% ของประชากรจังหวัดน่าน) อยู่กับป่าได้อย่างสมดุล และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มียุทธศาสตร์การทำงาน ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านส่งเสริมสวัสดิการอาชีพราษฎรบนที่สูงด้านส่งเสริมการให้บริการสวัสดิการพื้นฐาน การจัดการป่าเพื่อสวัสดิการ และอัตลักษณ์วิถีชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงมีกระบวนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ดังนี้ การเตรียมความพร้อมผู้มีส่วนร่วมการในพัฒนา การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบและกำหนดเป้าหมาย การจัดทำแผนปฏิบัติการ การบูรณาการทรัพยากรการดำเนินการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ และการประเมินผลถอดบทเรียน โดยกำหนดพื้นที่นำร่อง หมู่บ้านปางเป๋ย ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานและดำเนินการแก้ไขปัญหาพัฒนาชาวเขากับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒ จนถึงปัจจุบัน โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและสวัสดิการบนพื้นที่สูงตามแนวพระราชดำริปี พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ทั้งหมด ๓ ด้าน ดังนี้ ๑) การพัฒนาบริหารจัดการเพื่อพัฒนามุ่งเน้นการ "รู้คน รู้พื้นที่"๒) การพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงมุ่งเน้นการการสร้างงาน สร้างอาชีพ และ ๓) การจัดสวัสดิการสังคมบนพื้นที่สูงมุ่งเน้นการจัดการสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสมตามภูมิสังคม
"การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการแก้ไขปัญหาสังคม ที่จังหวัดน่าน และผลักดันการบูรณาการการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน "น่าน Model" ในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนในการสร้างมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตราษฎรในพื้นที่สูงให้มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการสังคมได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม พัฒนาสังคมร่วมกันอย่างยั่งยืน" ตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย