กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--บีโอไอ
ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุนขยายขอบข่ายการให้บริการ ครอบคลุมถึงการลงทุนในเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลงทุนในกิจการ ITC และ IHQ รองนายกฯ มั่นใจ ช่วยสร้างบรรยากาศ ที่เอื้อต่อการลงทุน
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (OSS) ซึ่งเป็นส่วนขยายของศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือ OSOS ที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปลายปี 2552 ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายในการปรับปรุงการให้บริการของหน่วยงานรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและประกอบกิจการต่างๆให้สามารถดำเนินการได้ในสถานที่เดียวในลักษณะเบ็ดเสร็จ (One Stop Services) จึงได้มอบหมายให้บีโอไอขยายขอบข่ายการให้บริการให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น โดยรวมการให้บริการปรึกษา และแนะนำการลงทุนทำธุรกิจในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 10 พื้นที่ รวมทั้งการลงทุนในกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Head Quarter :IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center :ITC)
"รัฐบาลมั่นใจว่า การให้บริการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จนี้ จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน และทำให้เกิดการลงทุนที่รวดเร็วขึ้น เพราะนักลงทุนจะได้รับความสะดวกไม่ต้องเดินทางไปตามหน่วยงานต่างๆ หลายแห่ง โดยศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูลและคำปรึกษาด้านการลงทุน รวมถึงรับเรื่อง และประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ทำให้การทำธุรกิจมีความสะดวกรวดเร็ว ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศด้วย" ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าว
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ศูนย์ OSS เป็นส่วนของบริการที่เพิ่มขึ้นของศูนย์ OSOS ซึ่งจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีจำนวน 21หน่วยงาน เพิ่มเป็น 38 หน่วยงานจาก 14 กระทรวง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชนอีก 9 แห่ง เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการให้ข้อมูลสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันการเงิน เป็นต้น
ขอบข่ายการให้บริการของศูนย์แห่งนี้ จะครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาแนะนำ และข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การขอใบอนุญาต การรับเรื่องหรือรับคำขอต่าง ๆ เช่น การขอรับส่งเสริมการลงทุน การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การจดทะเบียนนิติบุคคล การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ในการให้บริการข้อมูล คำปรึกษาแนะนำตลอดจนเชื่อมโยงและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริการแก่ผู้ที่สนใจลงทุนในกิจการ IHQ และ ITC รวมทั้งการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
สำหรับบริการด้านข้อมูลการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะมีการประสานความร่วมมือกับศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 พื้นที่อย่างใกล้ชิด
กระทรวงและหน่วยงานภาครัฐที่มาร่วมให้บริการที่ศูนย์ OSOS ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากรกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต) กระทรวงพลังงาน (กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) กระทรวงแรงงาน (กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (กรมการท่องเที่ยว) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ เขตอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งประเทศไทย)
ส่วนหน่วยงานภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย ธนาคารและสถาบันการเงิน การนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม การสื่อสารแห่งประเทศไทย และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)