กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี ลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก องค์การบริหารส่วนตำบล สวนพริกไทย จังหวัดปทุมธานี และบริษัท อีโคมารีน จำกัด ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2558 ณ วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดปทุมธานี เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงฤดูน้ำหลาก พื้นที่ลุ่มภาคกลางตอนล่างมักประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุจากความตื้นเขินของแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำสาธารณะ และการเพิ่มขึ้นของผักตบชวา วัชพืช และสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งจะไม่มีพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ดำเนินโครงการ "คลองสวย น้ำใส คนไทยมีความสุข" เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี จึงได้ร่วมกับหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก องค์การบริหารส่วนตำบลสวนพริกไทย จังหวัดปทุมธานี และบริษัท อีโคมารีน จำกัด ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากผักตบชวา ในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2558 ณ วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี จะสนับสนุนบุคลากร การจัดเก็บผักตบชวา จัดทำปุ๋ยหมัก รวมถึงให้ความรู้แก่ชุมชน โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการฯ หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก สนับสนุนการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ตลอดจนตั้งศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ของศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบกที่ ๑ ประจำพื้นที่ภาคกลาง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์การบริหารส่วนตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ส่งเสริมความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย สนับสนุน การบริหารจัดการ และงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการฯ ขณะที่บริษัท อีโคมารีน จำกัด ให้การสนับสนุนการออกแบบเครื่องมือ เครื่องจักร และงบประมาณสำหรับผลิตเครื่องเก็บผักตบชวา โดยจะพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือ ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในการนำผักตบชวาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและยังเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากทำให้สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน
0-2243-0674
0-2243-2200
www.disaster.go.th