กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.อรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนางสาวสมคิด บัวเพ็ง นายกสมาคมอุทกธรณีวิทยาไทย (HAT) แถลงข่าว เรื่อง "น้ำบาดาล แก้ปัญหาภัยแล้งยั่งยืนได้อย่างไร" เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่า การแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยน้ำบาดาลเป็นการใช้แหล่งน้ำเสริมจากแหล่งน้ำผิวดินที่ขาดแคลนตามสถานการณ์ภัยแล้ง โดยย้ำว่าทุกขั้นตอนการทำงานใช้หลักวิชาการตามมาตรฐานการสำรวจและพัฒนา น้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาแผ่นดินทรุดหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
จากการที่ประเทศไทยได้เกิดปัญหาภัยแล้ง และภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีปริมาณน้ำฝนสะสมปี 2557 ต่ำกว่าค่าปกติอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2556 ประกอบกับ กรมชลประทาน ได้สรุปสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปี 2559 น้อยกว่าปี 2556 ถึง 5,310 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้การปล่อยน้ำใน 4 เขื่อนขนาดใหญ่ลดลงจาก 33 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถหล่อเลี้ยงในการทำการเกษตรที่มีการเพาะปลูกไปแล้ว ในพื้นที่ 22 จังหวัด ประมาณ 3.45 ล้านไร่ ซึ่งจะมีพื้นที่ดอนเสี่ยงต่อน้ำไปไม่ถึงที่มีการปลูกข้าวไปแล้ว จำนวน 850,000 ไร่ ได้รับความเสียหาย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กระทรวงกลาโหม และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน ประจำปี 2558 ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่างบางส่วน จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ และจังหวัดราชบุรี โดยการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายพิจารณาจากพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานที่เป็นพื้นที่ดอนเสี่ยงต่อน้ำ ไปไม่ถึง และเป็นพื้นที่ที่ได้เริ่มปลูกข้าวแล้ว เน้นพื้นที่ปลูกข้าวช่วงอายุ 15-60 วัน (ช่วงที่ต้องการน้ำมาก) และเป็นพื้นที่ที่น้ำบาดาลคุณภาพดี มีอัตราการให้น้ำมากกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยจะดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาล และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเทอร์ไบน์ จำนวนทั้งสิ้น 511 บ่อ และทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มน้ำ (Submersible pump) ของบ่อสังเกตการณ์ จำนวน 380 บ่อ หากดำเนินการตามแผนงาน ได้สำเร็จ จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เกษตรให้สามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้ได้ประมาณ 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากน้ำบาดาลประมาณ 100,000-130,000 ไร่ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 175.64 ล้านบาท โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2558
สำหรับผลการดำเนินงานล่าสุด มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ จำนวน 271 แห่ง จาก 511 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.03 ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ไปแล้ว จำนวน 154 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำบาดาลที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ จำนวน 111,889 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำของบ่อสังเกตการณ์ ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 160 แห่ง จาก 380 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำบาดาล ที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ จำนวน 24,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้มีการนำหลักวิชาการน้ำบาดาลมาใช้ในการดำเนินงานของ โครงการฯ ในทุกขั้นตอน เริ่มจากการสำรวจหาชั้นน้ำบาดาลทางธรณีฟิสิกส์ (Resistivity) การเจาะและก่อสร้าง บ่อน้ำบาดาลให้มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ การหยั่งธรณีหลุมเจาะ (Electric logger) เพื่อคัดเลือก ชั้นน้ำบาดาลที่เหมาะสมทั้งคุณภาพและปริมาณ การสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล (Pumping test) เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการสูบน้ำบาดาลในปริมาณที่ไม่เกินเกณฑ์สมดุล
รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง มีปริมาณน้ำบาดาลที่จะสูบขึ้นมาใช้ได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งสิ้น 10,819.35 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีการใช้ไปทั้งสิ้น 869.91 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งยังเหลือน้ำบาดาลที่จะนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมได้อีก 9,935.13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 27 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งยังมีปริมาณน้ำบาดาลที่จะสูบขึ้นมาใช้ได้อีกเป็นจำนวนมาก แต่การพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ยังมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน เช่น จะต้องมีระยะห่างระหว่างบ่อไม่น้อยกว่า 200 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งน้ำระหว่างบ่อน้ำบาดาล และต้องควบคุมระดับการลดตัวลงของแต่ละชั้นน้ำบาดาลไม่ให้เกิน 3 เมตรจากระดับน้ำปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยเฉพาะการนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ อย่างแน่นอน และบ่อน้ำบาดาลที่ได้ขุดเจาะจากโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน จำนวน 500 บ่อ ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ยังสามารถเก็บบ่อน้ำบาดาลไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูกาลถัดไปได้ เพื่อให้มีการใช้น้ำบาดาลสำหรับแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
ด้านนางสาวสมคิด บัวเพ็ง นายกสมาคมอุทกธรณีวิทยาไทยกล่าวว่า สมาคมอุทกธรณีวิทยาไทย คือองค์กรที่มีสมาชิกเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำบาดาลหลายท่าน โดยสมาคมฯ เห็นว่า การแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้ น้ำบาดาลสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้? โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประกาศเป็นเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและแผ่นดินทรุดมาเป็นเวลามากกว่า 15 ปีแล้ว และมีมาตรการป้องกันและแก้ไขการใช้น้ำบาดาลมาอย่างเข้มงวดจนในปัจจุบันสถานการณ์น้ำบาดาลได้กลับคืนสู่สภาวะปกติแล้วตลอดจนการทรุดตัวของแผ่นดินแม้จะยังเกิดขึ้นบ้างแต่ก็เป็นไปตามธรรมชาติที่บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ดินอ่อน ในบริเวณนี้เป็นแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูงมาก และเคยเป็น
แหล่งน้ำสำคัญที่นำมาใช้เพื่อการประปาและธุรกิจอุตสาหกรรมมาก่อน?สามารถนำมาใช้ในปริมาณที่ไม่เกิด ผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลได้ถึงวันละ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ชึ่งในปัจจุบันมีการนำมาใช้เพียงวันละ 890,598 ลูกบาศก์เมตร จึงยังมีน้ำบาดาลที่จะนำมาใช้ได้อีกถึงวันละ 309,402 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จึงเห็นควรให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลอนุญาตให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสูบน้ำจากบ่อสำรองที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ได้ในระยะที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง เพื่อทดแทนหรือลดปริมาณการใช้น้ำประปาจากการประปานครหลวง ก็จะเป็นการช่วยบรรเทา ความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสะอาดในยามที่ประเทศกำลังเผชิญสภาวะวิกฤต ส่วนในระยะยาว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นบทเรียนในการวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก โดยจัดหาแหล่งน้ำสำรองทั้งน้ำผิวดินและน้ำบาดาลไว้ให้พร้อมที่จะใช้การได้ โดยเฉพาะการประปานครหลวง ควรจะมีบ่อน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ต่างๆ ไว้ เนื่องจากการเจาะและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลสามารถดำเนินการได้ในระยะ เวลาอันรวดเร็ว สามารถเก็บบ่อน้ำบาดาลไว้เป็นบ่อสำรองได้เมื่อมีความจำเป็น โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้องอนุญาตให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีบ่อสำรองไว้ใช้ได้ พร้อมทั้งให้ความรู้และแนะนำในการบำรุงรักษาบ่อ น้ำบาดาลให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ