กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พบเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย อุบัติการณ์ 8.8 ต่อประชากร 100,000 คน และเป็นอันดับ 5 ในเพศหญิง 7.6 ต่อประชากร 100,000 คน พบมากตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปโดยมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ
แพทย์หญิงพอหทัย พิทักษ์พงศ์ศิริ อายุรแพทย์ ด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ อายุมากกว่า 50ปี รับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ทานผักผลไม้น้อย เคยมีประวัติตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้หรือเคยเป็นมะเร็งลำไส้มาก่อน มีประวัติมีติ่งเนื้อในลำไส้ของคนในครอบครัว (family history of polyposis syndrome) เคยมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว หรือมีภาวะลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease , crohn's disease ulcerative colitis) อาการที่แสดงมีดังต่อไปนี้ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด อ่อนเพลียจากภาวะซีดจากภาวะเลือดออกจากก้อนมะเร็ง (microcytic anemia) คลำก้อนได้บริเวณหน้าท้อง ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจตามมาด้วยอาการลำไส้อุดตัน ท้องอืดมากไม่ถ่ายไม่ผายลม จากข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงชึ้นเรื่อยๆ ตามอายุโดยจะเพิ่มมากขึ้น และชัดเจนหลังจากอายุมากกว่า 50 ปี ดังนั้นอายุที่เหมาะสมในการตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่คือ อายุระหว่าง 50-85 ปี ยกเว้นในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น ประวัติเคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ มีประวัติมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ในครอบครัว มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว หรือมีภาวะลำไส้อักเสบ ที่ควรจะมีการตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 50 ปีแล้วแต่ภาวะของแต่ละโรค
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจเลือดออกแฝงในอุจจาระ (fecal occult blood test) โดยแนะนำให้ตรวจทุกๆ 1 ปี ข้อดีคือสะดวกทำง่ายและปลอดภัย ข้อด้อยคือมีความไวในการตรวจน้อยกว่าวิธีอื่นๆ มีความจำเพาะต่ำมีผลบวกและลบลวงได้ หากผลตรวจเป็นบวกแนะนำให้ทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องซิกมอยด์ (sigmoidoscopy) เป็นการส่องกล้องแบบอ่อนยาว 60 เซนติเมตร ตรวจบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย โดยแนะนำให้ส่องทุก 5 ปี ข้อดีคือมีความไวและความจำเพาะในการตรวจติ่งเนื้อในลำไส้ สามารถตัดติ่งเนื้อไปตรวจได้ แต่ข้อเสียคือไม่สามารถตรวจได้ตลอดความยาวของลำไส้ ต้องเตรียมลำไส้ก่อนส่องกล้อง มีภาวะแทรกซ้อนจากการส่องกล้องได้และมีราคาสูง
การสวนแบเรียม (double contrast barium enema) มีความไวในการตรวจพบติ่งเนื้อต่ำ โดยพบเพียงร้อยละ 48 สำหรับติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตร และไม่สามารถนำติ่งเนื้อมาส่งตรวจได้
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonoscopy) ใช้เอกซเรย์ตัดภาพกลางลำตัวด้วยความละเอียดสูง นำมาสร้างภาพลำไส้สามมิติ ข้อดีคือมีความไวและความจำเพาะสูง สามารถตรวจพยาธิสภาพนอกลำไส้ได้ ข้อด้อยคือ มีความไวต่ำถ้ารอยโรคเป็นชนิดแบนราบ บุ๋มหรือเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก ต้องเตรียมลำไส้เหมือนการส่องกล้อง และไม่สามารถนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) มีความไวและความจำเพาะในการตรวจติ่งเนื้อในลำไส้สูงที่สุด ได้ตลอดทั้งลำไส้ และสามารถตัดชิ้นเนื้อมาส่งตรวจได้ ข้อด้อยคือ มีความเสี่ยง จากหัตถการทั้งจากการได้ยากล่อมประสาท ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด เลือดออก ลำไส้ทะลักได้ ต้องเตรียมลำไส้ก่อนทำการตรวจ
จะเห็นได้ว่ามะเร็งเป็นโรคที่มีระยะเวลาก่อโรคยาวนาน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรากฏอาการผิดปกติ ผู้ที่เป็นมักจะไม่รู้ตัว ทุกคนควรจะให้ความสำคัญ กับการตรวจสุขภาพประจำปี และเฝ้าระวังความผิดปกติที่เกิดขึ้น พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค เพื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะได้วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป