กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สจล. เตรียมเปิด "ศูนย์นวัตกรรมเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุแห่งอาเซียน" แหล่งบูรณาการนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการในอาเซียน ตอกย้ำภาพลักษณ์ "The Master of Innovation: เจ้าแห่งนวัตกรรม"
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มุ่งสร้างโอกาสแห่งการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทางการศึกษาให้กับนักเรียนผู้พิการผ่านแนวคิด "The Gifted of The Gifted" จับมือมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ นำร่องเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีผลการเรียนดี และคนพิการทั่วไปภายใต้มูลนิธิฯ ได้เข้าศึกษาต่อในคณะหรือวิทยาลัยต่างๆ ของทางสถาบัน ตลอดจนส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดการศึกษาให้กับครู อาจารย์ และบุคลากร ผ่านการอบรม สัมมนาเชิงวิชาการ การพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต พร้อมเตรียมผุด "ศูนย์นวัตกรรมเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุแห่งอาเซียน" มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะทุกรูปแบบได้อย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางสถาบันก็ได้มีการพัฒนานวัตกรรมและโครงการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับผู้พิการอย่างหลากหลาย อาทิ คีย์บอร์ดเท้าสำหรับคนพิการ ห้องสมุดเสียง หนังสืออักษรเบลล์ และรถวีลแชร์แบบปรับยืนได้ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องภายใต้แนวคิด"The Master of Innovation: เจ้าแห่งนวัตกรรม" ของสถาบันในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.thศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ผู้พิการนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกับคนทั่วไป ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดสำหรับการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม อันเนื่องมาจากความพิการที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาทิ ความพิการทางการมองเห็น ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม และความพิการทางสติปัญญา เป็นต้น แต่ผู้พิการก็นับเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพทั้งในแง่ของการเรียนรู้และการประกอบอาชีพ รวมไปถึงสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป โดยในปัจจุบันมีจำนวน ผู้พิการกว่า 1.7 ล้านคนทั่วประเทศไทย ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนโอกาสและการส่งเสริมศักยภาพอย่างจริงจัง ผู้พิการก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคตดังนั้น สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย จึงได้ผลักดันแนวคิด "The Gifted of The Gifted" สร้างโอกาสแห่งการพัฒนา และส่งเสริมศักยภาพทางการศึกษาให้กับนักเรียนผู้พิการ โดยนำร่องร่วมมือกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และคนพิการทั่วไปภายใต้มูลนิธิฯ ที่มีผลการเรียนดีอยู่ในเกณฑ์ที่ สจล.กำหนด ได้เข้าศึกษาต่อในคณะหรือวิทยาลัยต่างๆ ของทางสถาบัน พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดการศึกษา
ให้กับครู อาจารย์ และบุคลากร ภายใต้มูลนิธิฯ ผ่านการอบรม และสัมมนาเชิงวิชาการ ตลอดจนพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการ และนวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อเป็นการเติมเต็มวัฏจักรแห่งการเรียนรู้ และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้พิการ โดยมุ่งบูรณาการคุณภาพชีวิต การศึกษา และสังคมไทยให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน อย่างไรก็ดี ทางสถาบันมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับองค์กร โรงเรียน และมูลนิธิเพื่อคนพิการต่างๆ ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้พิการต่อไปในภายภาคหน้านอกจากนี้ สจล.ก็ยังมีแผนในการพัฒนา"ศูนย์นวัตกรรมเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุแห่งอาเซียน"ขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการสรรค์สร้างนวัตกรรมไอเดียใหม่ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมหรือ ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ง่ายกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ในตึกอาคาร ระบบขนส่งมวลชน และการเข้าถึงบริการสาธารณะทุกรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องภายใต้แนวคิด "The Master of Innovation: เจ้าแห่งนวัตกรรม" ของสถาบันในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางสถาบันก็ได้มีการพัฒนานวัตกรรมและโครงการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้พิการและผู้สูงอายุเอาไว้อย่างหลากหลาย อาทิ คีย์บอร์ดเท้าสำหรับคนพิการ ห้องสมุดเสียง หนังสืออักษรเบลล์ รถวีลแชร์แบบปรับยืนได้ หูฟังทางการแพทย์แบบดิจิตอลเพื่อการบันทึกและวิเคราะห์สัญญาณหัวใจสำหรับผู้สูงอายุ และแอปพลิเคชั่นบันทึกชีวิตประจำวันช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์และผู้สูงอายุ เป็นต้นด้าน ดร.พิชาญ ใจเสรี ประธานมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ในฐานะองค์กรที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเสริมพลังคนพิการสู่สังคมแห่งความเสมอภาค ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับ สจล.ลงนามใน "บันทึกความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการลงนามครอบคลุม 3 เรื่อง ดังนี้
1. การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ: ส่งเสริมการเรียนรู้ การใช้ห้องปฏิบัติการและการเข้าร่วมกิจกรรมของสถาบันร่วมกัน
2. การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้: ส่งเสริมการศึกษาต่อให้กับนักเรียน และบุคลากรของมูลนิธิฯ รวมถึงการอบรม-สัมมนา
3. การพัฒนางานวิจัยร่วมกัน: ส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้พิการร่วมกันตลอดจนนำเสนอ และผลักดันนโยบายให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งนี้ การลงนามมีขอบข่ายของความร่วมมือเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 โดยกิจกรรมการลงนามความร่วมมือดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ
นวัตกรรมเพื่อผู้พิการของ สจล.
1. คีย์บอร์ดเท้าสำหรับคนพิการ
ปัจจุบันมีผู้พิการทางแขนจำนวนไม่น้อยที่มีแขนเพียงข้างเดียว แต่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน
โดยที่การใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์บางชนิดนั้น ไม่สะดวกแก่การใช้งานด้วยแขนเพียงข้างเดียว จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้
ทีมวิจัยทำการสร้างคีย์บอร์ดเท้าสำหรับผู้พิการขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้พิการที่มีแขนข้างเดียวสามารถใช้คอมพิวเตอร์
ในการทำงานได้สะดวกมากขึ้น
2. ห้องสมุดเสียง
โดยปกติการฟังหนังสือเสียงจะต้องใช้อุปกรณ์ภายในโรงเรียนสอนคนตาบอด ไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถนำออกไปฟังได้นอกสถานที่ได้ จึงเกิดเป็นโครงการห้องสมุดเสียง โดยนำไฟล์เสียงไปเก็บในอุปกรณ์ประมวลผล Raspbery Pi ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถพกพาได้ หากอยากฟังไฟล์เสียงไหนก็สามารถนำการ์ด RFID ที่มีการแปะชื่อหนังสือเปนอักษรเบรลล์ไว้ไปทาบกับ Raspbery Pi อุปกรณ์ก็จะอ่านเสียงออกมาให้ได้ฟัง อีกทั้งยังสามารถต่อไวไฟ ฟังข่าวออนไลน์ได้อีกด้วย
3. จอแสดงอักษรเบรลล์
ผู้พิการทางการมองเห็นบางกลุ่มมีความคุ้นเคยและชอบการใช้มือสัมผัสอักษรเบรลล์ในการรับข้อความมากกว่าการฟังข้อความเสียง โดยหนังสืออักษรเบรลล์นี้จะรับ Input เป็น Text File จากนั้นจะแปลงอักษรทีละตัวออกมาแสดงที่จอแสดงอักษรเบรลล์ให้ผู้พิการสามารถใช้มือลูบไปที่ตัวอักษรที่ค่อยๆ แสดงขึ้นบนจอ ซึ่งข้อดีข้อดีคือประหยัดกระดาษในการพิมพ์หนังสืออักษรเบรลล์ ส่วนข้อจำกัดคือจอแสดงอักษรเบรลล์ยังตัวใหญ่กว่าขนาดมาตรฐานอยู่เล็กน้อย
4. รถวีลแชร์แบบปรับยืนได้
ผู้ป่วยหรือผู้พิการทางร่างกายช่วงล่างที่ต้องนั่งรถเข็นนานๆ บางครั้งก็มีความต้องการที่จะเปลี่ยนอิริยาบทนอกเหนือจากการนั่ง ซึ่งรถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนนี้สามารถปรับตำแหน่งของเบาะรถเข็นให้อยู่ในอิริยาบทการยืน และการนอนได้ นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อนที่ได้ง่ายๆ เพียงอาศัยการบังคับคันโยกที่ติดอยู่กับพนักรถเข็น ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถเคลื่อนที่ผ่านพื้นผิวขรุขระและพื้นที่มีความต่างระดับเล็กน้อยได้อย่างปลอดภัยในทุกๆ อิริยาบถ