กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--มายแบรนด์ เอเจนซี่
มูลนิธิสังคมสุขใจ เพิ่มความมั่นใจคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์นำร่อง พาลูกค้าออฟฟิศลงพื้นที่ ตะลุยสวนชมแปลงปลูก
"เจอฝรั่งที่มีตำหนิพอไปเห็นสวนแล้วเกิดความมั่นใจ อยากให้คนในครอบครัวมาเห็น เชื่อว่าหากใครก็ตามเมื่อได้สัมผัสและเห็นจะรักโครงการนี้ อยากจะช่วยอุดหนุนพืชผักของเกษตรกร คนทานอาหารถ้าเขาได้รู้ข้อมูลแหล่งที่มาเขาก็อยากซื้อ" คุณภานุวรรณ กวียะ หนึ่งในพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในตลาดนัดสุขใจสัญจร พูดถึงความรู้สึกประทับใจ ภายหลังได้เข้าชมแปลงปลูก ในพื้น อ.สามพราน จ.นครปฐม ตามโครงการนำร่อง "พาตะลุยสวน ชวนสัมผัสวิถีเกษตรกรอินทรีย์ตลาดสุขใจ" ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล โดยมูลนิธิสังคมสุขใจและ สามพราน ริเวอร์ไซด์
หลังจากประสบความสำเร็จเชื่อมโยงให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตให้ได้มาเจอกัน ภายใต้โครงการตลาดนัดสุขใจสัญจร ที่จัดต่อเนื่องกันมา 7 เดือน ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ มูลนิธิสังคมสุขใจ ก็ได้ขยายผลต่อเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคถึงมาตรฐานความปลอดภัยของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และความมุ่งมั่นตั้งใจของเกษตรกร โดยได้นำลูกค้าที่มียอดซื้อสินค้าสูงสุด ลงพื้นที่เที่ยวชมแปลงปลูกของเกษตรกรในโครงการสามพรานโมเดล พร้อมช็อปสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ตลาดสุขใจ ในสามพราน ริเวอร์ไซด์
เช้าวันเสาร์ที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา พนักงานไทยพาพณิชย์พร้อมครอบครัวและเพื่อนๆ ออกเดินทางจากธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ด้วยขบวนรถยนต์ของค่ายนิสสันหลากรุ่น กว่า 10 คัน มุ่งหน้าสู่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เพื่อร่วมสัมผัสวิถีอินทรีย์ของเกษตรกรในโครงการสามพรานโมเดล
จุดหมายแรก แวะเรียนรู้ที่มาของโครงการ และทำความรู้จักกับหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรอินทรีย์กลุ่มบางช้าง ป้าประหยัด ปานเจริญ เจ้าของสวนฟักข้าว ชมพู่ ฝรั่ง มะม่วง และจำหน่ายพันธุ์ไม้หลายชนิด
ป้าประหยัด บอกว่า อยากให้ผู้บริโภคได้เห็นวิถีชีวิตของเกษตรกร ได้เข้ามาเห็นของจริง จะได้มั่นใจในสินค้ามากขึ้น อย่างวันนี้จุดสังเกตง่ายๆ ของแปลงที่เป็นอินทรีย์ คือ หากเต็มไปด้วยหญ้า นั่นคือสวนผลไม้อินทรีย์โดยแท้ เพราะกฏเหล็กของอินทรีย์ข้อหนึ่งคือห้ามใช้ยาฆ่าหญ้า วิธีการกำจัดวัชพืชต้องใช้วิธีดายหญ้าเท่านั้น
หลังจากได้เกร็ดความรู้เบื้องต้นกันพอสมควร ก็ได้เวลาตะลุยสวน แบ่งสายแยกย้ายกันไปตามสวนต่างๆ แม้แสงแดดสาดเปรี้ยงในช่วงเที่ยง แต่เหล่าบรรดาพนักงานแบงก์ก็หาหวั่นไม่ ต่างตื่นเต้นกับการได้นั่ง เรือโฟมล่องไปตามท้องร่อง เพื่อเก็บฝั่ง ทดลองห่อฝรั่ง รวมทั้งได้ชมแปลงนาข้าวที่ชูคอเขียวขจีเต็มท้องทุ่ง คั่นด้วยดอกไม้หลากสีสันเต็มคันนา ช่างเป็นภาพที่สวยงามยิ่งนัก สร้างความตื่นตาให้กับผู้ร่วมเดินทาง ต่างโพสต์ท่าไปถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน
ก่อนเดินทางต่อ แวะเติมพลังและความสดชื่นด้วยน้ำฝรั่งคั้นสดๆ ผลไม้หลากชนิดทั้ง ขนุน ฝรั่ง และขนมดอกจอก ขนมจาก ที่บ้านป้าประหยัดกันอีกครั้ง จากนั้นขบวนรถนิสสันนำคณะเดินทางไปต่อไปยังสวนเกษตรอินทรีย์สุขใจ หรือ สวนลุงเขียด ซึ่งเป็นสวนเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน IFROAM & EU มีทั้งแปลงผัก ผลไม้ แปลงนา แบ่งเป็นโซนอย่างชัดเจน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตรงข้ามกับสามพรานริเวอร์ไซด์
ที่นี่จะมีต้นหมากอายุกว่า 50 ปีชูคอสูงลิ่ว ซึ่งหายากแล้วในยุคสมัยที่ผู้คนไม่กินหมาก แต่ได้เวลา ตื่นเต้นกันอีกครั้งกับการโชว์ปีนต้นหมากของคุณลุงวัย70 ปี ที่สามารถใช้ขาเกี่ยวต้นหมากที่อ่อนลู่ลมเข้ามาหาตัว จากต้นหนึ่งไปต้นหนึ่งได้โดยง่าย ทว่ากว่าจะทำได้แบบนี้คนที่ปีนหมากต้องฝึกฝนสั่งสมประสบการณ์มายาวนานหลายสิบปี
สนุกสนานกับกิจกรรมกันมาตั้งแต่เช้า ก็ได้เวลาอาหารกลางวัน มื้อนี้ช่างพิเศษยิ่งนัก เพราะทุกคนได้มีส่วนร่วมในการปรุงอาหารกลางวันรับประทานกันเอง ด้วยบรรยากาศธรรมชาติกลางท้องทุ่งในศาลาโรงนา ลงแปลงผักเก็บผักบุ้ง เก็บไข่เป็ดจากเล้า มากินกับน้ำพริกเห็ดคลุกข้าวอินทรีย์ เมื่ออิ่มท้องแล้ว ยังได้ทดลองทำนาโยน ขณะที่บางคนไปละลายทรัพย์ในกระเป๋า ด้วยการช็อปปิ้งในตลาดสุขใจ
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพรานริเวอร์ไซด์ และเลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวถึงโครงการนำร่องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเกษตรอินทรีย์ว่า วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าได้ไปเห็นการเกษตรอินทรีย์ และมีความมั่นใจว่าสินค้าอินทรีย์ดีต่อสุขภาพจริงๆ เปิดโอกาสให้พาคนในครอบครัวมาเที่ยวฟรี แต่สิ่งสำคัญให้ลูกค้าจะมีส่วนไปรับรอง เพราะการทำเกษตรอินทรีย์นอกจากมีมาตรฐานที่มีผู้ตรวจที่เป็นหน่วยงานอิสระไปตรวจแล้ว ยังต้องการให้ผู้บริโภค หรือลูกค้าเข้าไปร่วมตรวจด้วย เป็นมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งในต่างประเทศก็ใช้มาตรฐานการมีส่วนร่วมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขณะที่ในประเทศไทย มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย ได้ผลักดันให้เกิดระบบนี้ พร้อมกันนี้ ผู้บริโภคยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กำลังดำเนินการในรูปแบบของระบบสมาชิก ที่เปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าอินทรีย์ได้ทางเว็บไซต์ โดยนำร่องกับธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ เพราะที่นี่มีลูกค้าประจำที่รอซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว เมื่อมีระบบที่เป็นทางการสามารถเก็บข้อมูลได้ ต่อไปจัดทำระบบสะสมแต้ม หากลูกค้าท่านได้ทำยอดซื้อ สะสมถึงเป้า จะได้รางวัลมาเที่ยวชมและทำกิจกรรมสวนเกษตรอินทรีย์ฟรี
"เมื่อลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์จัดระบบได้ลงตัว มีแผนที่จะทำตลาดร่วมกับบริษัท เอส ซี จี สำนักงานใหญ่ บริษัทปตท. ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา เพราะบริษัทเหล่านี้อยู่ในละแวกเดียวกัน ทำให้สะดวกต่อการขนส่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้ " นาย อรุษ กล่าว
ด้านป้าประหยัด บอกว่า ในฐานะคนปลูกเราต้องการสื่อสารให้คนกินเข้าใจว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นเกษตรกรตั้งใจและทุ่มเท กว่าจะได้ฝรั่งมาสักลูกต้องดูแลตั้งแต่ออกดอก ให้ปุ๋ยให้น้ำนานถึง 2 เดือน ผู้บริโภคจะรับรู้ได้ว่ารสชาติของผลไม้อินทรีย์ต่างจากเคมี จะหวานและกินได้สนิทใจกว่า สำหรับลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้เห็นวิธีการปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทุกขั้นตอน
"พื้นที่การทำเกษตรในอ.สามพราน มีประมาณหมื่นไร่ แต่ขณะนี้มีเกษตรกรที่เปลี่ยนใจมาเกษตรอินทรีย์รวมแล้วกว่า 100 ไร่ ถือว่ายังเป็นส่วนน้อยมาก ถ้าผู้บริโภคมีจำนวนมากขึ้นก็จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรที่ใช้เคมีหันมาทำอินทรีย์เพิ่มขึ้น"
เสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอย่างคุณทัศนีย์ ยินดีชัย และคุณฉวีวรรณ สังขพาณิชย์ พนักงานไทยพาณิชย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ให้มุมมองว่า การท่องเที่ยวชมสวนเกษตรอินทรีย์ ช่วยทำให้ลูกค้าได้เข้าใจว่า กว่าจะได้ผลไม้มีขั้นตอนอย่างไร ได้เห็นความยากลำบากของเกษตรกร อย่างกว่าจะได้ห่อ ต้องรอ 1 เดือน ห่อไปแล้วต้องรอต่ออีก 1 เดือนถึงจะเก็บผลผลิตได้ ต้องดูแลใส่ใจเยอะเพราะไม่ใช้สารเคมีเลย ขณะที่ราคาขายที่แบงก์ ถูกกว่าเยอะเมื่อเทียบกับซื้อในห้างสรรพสินค้า
ปัจจัยหนึ่งที่สินค้าอินทรีย์ยังไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย อาจเป็นเพราะผู้คนยังไม่เข้าใจเรื่องการผลิตอินทรีย์อย่างถ่องแท้ เมื่อคนในสังคมร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนสินค้า จะเป็นแรงส่งให้เกษตรกรหันมาผลิตพืชผักในระบบอินทรีย์มากขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจต้องการสัมผัสบรรยากาศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม และสนุกกับกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ เรื่องที่มาของอาหารปลอดภัย การทำเกษตรอินทรีย์แบบวิถีดั้งเดิม โดยไม่พึ่งพาสารเคมีผ่านกิจกรรมต่างๆ หลากหลายกิจกรรม สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์สุขใจ โทร. 034-322-588-93