กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เมื่อกลุ่มนักศึกษาประกาศไม่หยุดเคลื่อนไหว แกนนำชุมชนคิดอย่างไร: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง เมื่อกลุ่มนักศึกษาประกาศไม่หยุดเคลื่อนไหว แกนนำชุมชนคิดอย่างไร: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,062 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2558
ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 56.7 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 25.3 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 10.4 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 6.7 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.9 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
และเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามต่อไปถึงความสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับกลุ่มนักศึกษา 14 คนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและ คสช.ภายหลังได้รับการปล่อยตัวแล้วนั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 67.6 ระบุยังคงสนใจติดตาม โดยให้เหตุผลสามารถสรุปได้ว่าเพราะ อยากรู้เบื้องหลังของการเคลื่อนไหว อยากรู้แนวทางการแก้ไขปัญหาและการรับมือของรัฐบาล/คสช. รวมถึงอยากรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.4 ระบุไม่สนติดตามแล้ว เพราะไม่มีเวลา /ไม่ได้สำคัญขนาดต้องสนใจติดตาม/มีเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ และไม่อยากรับรู้ปัญหาอีก ประเทศชาติกำลังจะดีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นถึงการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและ คสช.ของกลุ่มนักศึกษาที่เกิดขึ้นนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 25.8 ระบุคิดว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ที่แสดงถึงความเข้มแข็งทางการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ร้อยละ 43.6 ระบุคิดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มการเมืองที่อยู่เบื้องหลังเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลและ คสช. และร้อยละ 30.6 ระบุยังตัดสินใจไม่ได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเพียงพอ
สำหรับความคิดเห็นของแกนนำชุมชนในกรณีที่นักศึกษากลุ่มนี้ออกมาประกาศว่าจะยังคงมีการเคลื่อนไหวต่อไป ภายหลังได้รับการประกันตัวนั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 12.8 ระบุเห็นด้วยกับกลุ่มนักศึกษา โดยให้เหตุผลว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลและ คสช.ยังไม่ให้ความชัดเจนกับประชาชน /จะได้เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลและ คสช.ตั้งใจทำงานมากขึ้น และเห็นด้วยเพราะถือว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 87.2 ระบุไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว โดยให้เหตุผลสามารถสรุปได้ว่า กำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูปประเทศ ควรรอเวลาก่อน/ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ และเป็นการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง และเมื่อรัฐบาลขอเวลาก็ควรให้เวลา แล้วค่อยตัดสินใจ
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจพิจารณาคือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงการสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาหากว่ามีการเคลื่อนไหวที่เป็นไปอย่างสงบและไม่ก่อความเดือดร้อนให้ประเทศชาติและประชาชน โดยผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 26.3 ระบุคิดว่าจะสนับสนุน ในขณะที่ร้อยละ 54.8 ระบุคิดว่าจะไม่สนับสนุน และร้อยละ 18.9 ระบุยังไม่แน่ใจ
นอกจากนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นถึงสิ่งที่รัฐบาลและ คสช.ควรดำเนินการหากลุ่มนักศึกษายังคงออกมาเคลื่อนไหวเช่นเดิมภายหลังได้รับการปล่อยตัวแล้วนั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 0.7 ระบุเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไข ร้อยละ 25.1 ระบุเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวต่อไปโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเคลื่อนไหวอย่างสงบ อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 71.3 ระบุว่าให้ยุติการเคลื่อนไหวและเปิดเจรจาโดยสันติวิธี และร้อยละ 2.9 ระบุให้ดำเนินการเพื่อยุติการเคลื่อนไหว โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมาย โดยใช้วิธีการขั้นเด็ดขาด โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อบทบาทและท่าทีของสถาบันการศึกษา กรณีที่มีกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและ คสช. ซึ่งผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 44.7 ระบุสถาบันการศึกษาควรออกมาห้ามปรามกลุ่มนักศึกษา ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวใดๆในขณะนี้ ร้อยละ 32.4 ระบุสถาบันการศึกษาควรออกมาสนับสนุนให้นักศึกษาเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ส่วนรวม ร้อยละ 17.0 ระบุคิดว่าสถาบันการศึกษาคงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ในขณะที่ร้อยละ 5.9 ระบุเฉยๆ ไม่ต้องยุ่ง ปล่อยให้นักศึกษาเคลื่อนไหวไปโดยอิสระ ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นกรณีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเพื่อต่อต้านรัฐบาลและ คสช.นั้น ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 70.8 ระบุรู้สึกเป็นห่วงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อไทย เพราะ ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองประเทศไทย/ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน/เกรงว่าเรื่องจะบานปลาย จนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง/อาจมีบางประเทศใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงประเทศไทย /อาจเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนร้อยละ 29.2 ระบุไม่รู้สึกเป็นห่วงเพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร/ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถรับมือได้อย่างดี/ เป็นการเคลื่อนไหวเฉพาะกลุ่ม ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงได้/รัฐบาลสามารถชี้แจงกับต่างประเทศได้อยู่แล้ว/ เชื่อว่าต่างประเทศเริ่มมีความเข้าใจต่อประเทศไทยและรัฐบาลไทยมากขึ้นแล้ว
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 88.6 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.4 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 10.9 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 31.1 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 58.0 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 33.4 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 45.9 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 6.9 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 13.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 74.4 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 12.2 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 13.4 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 27.8 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 20.5 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 23.7 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 28.0 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ