กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--NBTC Rights
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากสำนักงานในช่วงเช้าว่าจะมีการประชุม กสทช.นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือ ร่าง พรบ. กสทช. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือด่วนลงวันที่ 3 ก.ค.ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแจ้งยืนยันภายในวันที่ 10 ก.ค. แต่ตนไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้เนื่องจากติดภารกิจในการติดตามความคืบหน้าการขยายโครงข่ายภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลจึงได้ส่งความเห็นไปยังเลขาธิการ กสทช. เพื่อดำเนินการต่อไปโดยคาดว่าเร็วๆนี้ จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการต่อไป
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ร่างพรบ. กสทช.ที่ได้เสนอมานั้น มีหลายเรื่องสำคัญที่ตนเห็นว่าควรยืนตาม พรบ. กสทช.ฉบับเดิมที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ได้แก่ ประเด็น องค์ประกอบของกรรมการ กสทช. คุณสมบัติ คณะกรรมการสรรหาและการดำเนินการคัดเลือก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาใหม่ทั้งหมดพบว่า ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม อีกทั้งตัวแทนจากองค์กรอิสระที่จะดำเนินการสรรหา กสทช. อย่างเช่น ปปช. หรือ คตง. มีภารกิจหลักในฐานะที่เป็นผู้ตรวจสอบ กสทช. อยู่แล้ว รวมทั้งหลักความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแล กฎหมายฉบับใหม่กำหนดว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการของ กสทช. สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ตนเห็นว่า บทบัญญัตินี้ขัดกับหลักความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแลโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ สามารถปรับปรุงแก้ไขแผนและนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแลได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้ กสทช.ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ด้านการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งยังคงการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล แต่ได้เพิ่มหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ ซึ่งการเขียนข้อยกเว้นไว้ในลักษณะนี้ อาจเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจและจัดสรรคลื่นด้วยวิธีคัดเลือกคุณสมบัติ อันจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสตามมา ประเด็นกลไกตรวจสอบ กสทช. ตนเห็นว่าที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานขาดความเหมาะสม เช่น ผู้แทนจาก ปปช. หรือ สตง. เป็นหน่วยงานหรือกลไกรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช.อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีความคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นกรรมการสรรหาและตัวแทนขององค์กรเหล่านี้เป็นคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน นอกจากนี้กระบวนการประเมินยังมีลักษณะเป็นเพียงกลไกภายใน ซึ่งดิฉันเห็นว่ากลไกการตรวจสอบ กสทช.ควรเป็นหน่วยงานประเมินจากภายนอก (External audit) และมีการเปิดเผยผลการประเมินดังกล่าวต่อสาธารณะ
ประเด็นการสนับสนุนการชดเชยการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ที่ได้มีเพิ่มเติมใหม่ นางสาวสุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า การต้องใช้เงินของรัฐชดเชยหรือเยียวยาในกรณีที่ต้องนำคลื่นความถี่กลับมาจัดสรรใหม่ เป็นกรณีที่ผิดไปจากหลักการและข้อเท็จจริง เนื่องจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ได้กำหนดกรอบเวลาในการปรับตัวไว้อย่างเพียงพอแล้ว รวมทั้งหน่วยงานรัฐต่างรับรู้แนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรฯ ปี 2553 มีผลบังคับใช้ หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ถือครองคลื่นและประกอบกิจการในเชิงพาณิชย์ตลอดระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 15 ปี จึงไม่มีเหตุผลหรือความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ที่จะต้องนำเงินของรัฐไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับหน่วยงานของรัฐเอง
ประเด็นการบริหารกิจการภายในของสำนักงาน กสทช. มีข้อสังเกตว่า ในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ มีบางมาตราที่ประสงค์จะแก้ไขการบริหารงานของสำนักงานโดยมีความคลุมเครือในแง่เหตุแห่งความจำเป็น อาทิ มาตรา 38 ที่กำหนดให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 60 ของพ.ร.บ.ปัจจุบัน และเสนอให้มีรองเลขาธิการ กสทช. ฝ่ายนโยบายและรองเลขาธิการฝ่ายประจำ ตามจำนวนที่ กสทช.กำหนด รองเลขาธิการ กสทช.ฝ่ายประจำต้องแต่งตั้งจากพนักงานประจำของสำนักงาน กสทช. หรือ บทบัญญัติในมาตรา 46 วรรคสองและวรรคสาม พบว่า มีเนื้อความที่สร้างความสับสนในเรื่องการกลับเข้ามาของตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. โดยให้มีฐานะเป็นพนักงานประจำของสำนักงาน กสทช. เป็นต้น
ประเด็นสุดท้ายการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย นับตั้งแต่มีข้อเสนอในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย กสทช. ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่า ทุกภาคส่วนมีข้อเสนอแนะ และแสดงความห่วงใยในหลากหลายประเด็น ดิฉันจึงเห็นว่าขั้นตอนของการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ควรนำความเห็นที่หลายฝ่ายได้นำเสนอไปแล้วมาพิจารณา ประกอบกับเปิดให้ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค และตัวแทนภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้ามา มีส่วนในกระบวนการพิจารณาจัดทำร่างฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและประโยชน์สูงสุดต่อการจัดสรรทรัพยากรต่อไป
ส่วนในวันจันทร์ที่ 13 ก.ค. นี้ การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 23/2558 มีวาระการประชุมสำคัญน่าจับตา ได้แก่ วาระการแต่งตั้งผู้ดำเนินดำเนินคดีปกครอง กรณีผู้รับใบอนุญาตช่องไทยทีวีและโลก้า ฟ้อง กสทช. โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้ขอให้คู่กรณีไปเจรจาหาทางออกอื่นๆต่อไป วาระการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ วาระสรุปผลการรับฟังความเห็นสาธารณะต่อแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม เอ.เอ็ม และระบบดิจิตอลส่วนตัวเห็นว่าแผนการสนับสนุนวิทยุดิจิตอลเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบทุกภาคส่วน ถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหาบางอย่างซ้ำรอยทีวีดิจิตอล ควรใช้เวลาพูดคุยกับทุกภาคส่วนให้เห็นภาพร่วมกันก่อนเร่งตัดสินใจเสนอหลักการต่อบอร์ดใหญ่ และวาระอื่นๆ ติดตามผลการประชุมทั้งหมดในวันจันทร์นี้ ...