กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์
- ประกาศฯ นี้ ไม่ได้แก้ปัญหานักดื่มก่อนวัยที่ต้นเหตุ เพราะไม่ห้ามการดื่มในพื้นที่ห้ามขาย
- ประกาศฯ นี้ ขาดการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นมาตรการเหมารวม ครอบคลุมถึงการห้ามขายในศูนย์การค้า ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ภัตตาคาร ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายและไม่ได้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เยาวชน
- พื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค สยามพารากอน สโมสรกองทัพบก สนามกอล์ฟเมืองเอก รวมถึงถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่ จะไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ได้อีกต่อไป
- ประกาศฯ นี้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคบริการและการจ้างงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.15 แสนล้านบาท และบุคลากรกว่า 125, 000 คนอาจได้รับผลกระทบถึงขั้นตกงาน
?
ตามที่คณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ในระยะ 300 เมตร เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กรกฏาคมที่ผ่านมานั้น สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อมีการบังคับใช้ ประกาศฯ ฉบับนี้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้ห้ามการบริโภคซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา ทั้งยังไม่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบ ตลอดจนขาดการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วนและรอบด้าน แต่กลับส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ ภาคธุรกิจ การจ้างงาน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโดยรอบ รวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น เพราะสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มิได้มีเพียงแค่สถานบันเทิง และสถานบริการเท่านั้น แต่ยังมี ร้านค้าปลีก ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อประกาศฯ นี้ บังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อภาคบริการและการจ้างงานตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสังคมเป็นวงกว้าง โดยพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติที่สำคัญ ทั่วประเทศ อาทิ ถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค สยามพารากอน แยก ราชประสงค์ ร้านอาหารในย่านสุขุมวิท ไปจนถึงสโมสรกองทัพบก สนามกอล์ฟเมืองเอก และราชกรีฑาสโมสร โดยความเสียหายดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจร้านอาหารเท่านั้น ยังไม่นับรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ถึง 30% หรือประมาณ 1.15 แสนล้านบาท และจะมีบุคลากรกว่า 125,000 คน ได้รับผลกระทบถึงขั้นตกงาน ส่งผลต่อเนื่องถึงครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ นอกจากนี้ ความไม่เป็นสากลของประกาศฉบับนี้ ยังทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย
ทางสมาคมเห็นว่ามาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันเยาวชนในการเข้าถึงการบริโภคแอลกอฮอล์ได้ตรงประเด็นอยู่แล้ว และมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่รุนแรงมากกว่า ตลอดจนเป็นหลักปฏิบัติที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับสากล เพียงแต่ยังขาดความเข้มงวดในการบังคับใช้ และการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ขายและผู้ซื้อ ในขณะที่ประกาศฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างสุจริตและประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยจึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ในระยะ 300 เมตร และเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบ ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะมีการเสนอและออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาสามารถลดและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่เหมาะสม ได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ และเครือข่ายผู้ประกอบการขอยืนยันและสนับสนุนนโยบายของรัฐเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ถูกต้อง เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนความรู้ความเข้าใจแก่เครือข่ายธุรกิจในการช่วยลดอันตรายและความเสี่ยงจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสม และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาว โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบการที่สุจริตและประชาชนที่เลือกจะบริโภคอย่างรับผิดชอบและสร้างสรรค์