กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๐ ก.ค.๕๘) เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเสริมสร้าง ความตระหนัก"ปัญหาการค้ามนุษย์" แก่เครือข่ายการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา การค้ามนุษย์ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ การป้องกันธุรกิจการท่องเที่ยวทางเพศ (Sex Tourism) และสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังป้องกันมิให้เด็กและสตรีกลุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้แทนจากท่องเที่ยวและการกีฬาจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และเครือข่ายมัคคุเทศก์ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ คน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมภาคบริการที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สร้างรายได้โดยมีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่งของการค้าบริการรวมของประเทศ ซึ่งในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย อาทิ โรงแรมและที่พัก ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งการท่องเที่ยวมีหลายรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) การท่องเที่ยวแบบผจญภัย (Adventure Tourism) การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) และยังมีธุรกิจ การท่องเที่ยวอีกรูปแบบที่แฝงตัวมาในคราบของนักท่องเที่ยว เพื่อซื้อบริการทางเพศทั้งเด็กหรือโสเภณี ทำให้ภาพพจน์ ของประเทศไทยติดลบในสายตาของนานาชาติ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรี มีกลไกในการขับเคลื่อน คือ คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมีการจัดทำแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ ๗ ม.ค.๕๘ โดยแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนนี้ ประกอบด้วย ๒ มาตรการ ๑๑ ภารกิจ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ และประเด็นที่ประเทศไทยถูกกล่าวหาใน Tip Report รวมทั้งข้อเสนอแนะของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ การประชุมคณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค.๕๘ ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ และมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ (ด้านสตรีและเด็ก) ภารกิจที่ ๘ การท่องเที่ยวที่ปลอดจากการบริการ ทางเพศ (Sex Tourism) ได้แก่ การจัดกิจกรรมอบรมการพัฒนาเครือข่ายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก (ศสด.) ขึ้น โดยมีอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (นายสมชาย เจริญอำนวยสุข) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ผลักดันเร่งรัด ติดตาม เฝ้าระวัง รวบรวมข้อมูล และรายงานผลการดำเนินการทั้งราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรี และได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานประจำที่ศูนย์ ตลอดจนมีชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง จับกุมดำเนินคดี และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ความก้าวหน้าในการดำเนินการ
"การจัดสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้เป็นเวทีในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยการเสริมสร้างความความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ของสังคมไทยให้แก่เจ้าหน้าที่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ส่งเสริมความร่วมมือกันทำงานเพื่อคุ้มครองป้องกันมิให้เด็กและสตรีตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้อย่างเท่าทันกับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว"พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย