กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--NBTC Rights
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือ ร่าง พรบ. กสทช. ในการประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 ก.ค. 2558 ได้มีการประชุม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือแจ้งให้สำนักงาน กสทช. ยืนยันร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าวกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 10 ก.ค.นั้น ซึ่งมีหลายประเด็นสำคัญที่ นายประวิทย์ได้เปิดเผยความเห็นว่าไม่เห็นด้วย ถึง 16 มาตรา(รายละเอียดดังนี้ปรากฎในเวบไซต์ http://nbtcrights.com/dissidence/5343) ได้แก่
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 4 เรื่องการกำหนดคุณสมบัติ เนื่องจากทำให้คณะกรรมการสรรหาสามารถใช้ดุลยพินิจกำหนดจำนวน กสทช.เฉพาะด้าน การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทั่วไปของ กสทช. เนื่องจากไม่ใช่การกำหนดคุณสมบัติที่สะท้อนความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติภารกิจ กสทช.
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 6 ถึงความเหมาะสมของกรรมการสรรหาเพราะจะขัดต่อบทบาทหน้าที่ด้านการตรวจสอบ
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 8 เรื่องการเปลี่ยนหน่วยงานธุรการในการสรรหา กสทช. จากสำนักเลขาวุฒิสภาเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
มาตรา 16 การนำเงินชดเชยการคืนคลื่นความถี่ ที่ควรคำนึงถึงการแสวงหาประโยชน์จากการชดเชยนี้ในกรณีของผู้ที่ถือครองคลื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่อาจนำคลื่นความถี่ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 17 อำนาจการกำกับดูแลการอนุญาตประกอบกิจวงโคจรดาวเทียมที่ไม่ได้ควบคู่กับการกำกับคลื่นความถี่ที่ กสทช.ดูแล
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 19 มีประเด็นเรื่องการแทรกแซงการทำงานและความเป็นอิสระของ กสทช. และหากเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็ควรส่งให้หน่วยงานอื่นมีความเป็นกลางพิจารณา
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 24 ที่เพิ่มข้อความ "โดยเฉพาะด้านการบริการสาธารณะแก่ประชาชน" เนื่องจากมีประเด็นปัญหาความไม่ชัดเจนของนิยาม เพราะเนื่องจากการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดก็คือการจัดสรรความถี่เพื่อบริการสาธารณะอยู่แล้ว
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 25 ที่มีการเพิ่มข้อความว่า "โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้" เนื่องจากเป็นการทำลายหลักการสำคัญของการประมูล
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 30 ไม่ควรเจาะจงให้เฉพาะ "หน่วยงานรัฐ" ที่จะเป็นผู้ดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมได้
มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 80/2557 ควรแก้ไขให้เกิดความชัดเจนว่าจะต้องไม่ใช่กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตนั้นสิ้นสิทธิในการใช้คลื่นความถี่แล้วตามกฎหมาย และต้องมิใช่กรณีผู้ได้รับอนุญาตสมัครใจคืนคลื่นเช่นกัน
มาตรา 32 ให้เพิ่มข้อความว่า เงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่นที่ได้รับคืนมา เป็นส่วนหนึ่งของรายได้กองทุนวิจัยฯ โดยไม่นำเข้ากองทุนดิจิทัลฯและไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งแตกต่างจากกรณีการจัดสรรคลื่นตามมาตรา 41(6) และ มาตรา 45(1) ที่ต่างให้นำส่งเข้ากองทุนดิจิทัลฯและหักค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกและเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยไม่พบว่ามีเหตุผลความจำเป็นใดที่ไม่กำหนดให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
มาตรา 33 อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติว่ากระทรวงการคลังจะทราบได้อย่างไรว่าเงินกองทุนดังกล่าวมีความจำเป็นหรือหมดความจำเป็นต้องใช้หรือไม่ และเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีความจำเป็น ทั้งที่สามารถกำหนดในร่างมาตรา 32 ได้ว่าให้นำเงินรายได้ที่ได้จากการจัดสรรคลื่นที่ได้รับคืนตามมาตรา 48(4) ให้นำส่งเข้ากองทุนดิจิทัลฯตามส่วนที่กำหนด ส่วนที่เหลือเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 34 เรื่องการนำเงินกองทุนไปลงทุนได้
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 37 ควรคงข้อความที่ให้เปิดเผยค่าตอบแทนเป็นรายบุคคลไว้
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 39 ควรให้มีการทบทวนที่มาของเงินกองทุนดิจิทัลฯ โดยควรเป็นงบที่รัฐจัดสรรให้ และไม่ควรกำหนดให้มีที่มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี
ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 41 ที่แก้ไขเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานไม่ควรมีผู้แทนของหน่วยงานตรวจสอบภายนอกเป็นคณะกรรมการฯ
นอกจากนี้ ในพรุ่งนี้ วันอังคารที่ 14 ก.ค. จะมีการประชุมบอร์ดใหญ่ นัดพิเศษ ครั้งที่ 6/2558 เพื่อพิจารณา ร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หรือ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1710 – 1722.5 MHz/1805 – 1817.5 MHz และ 1748 – 1760.5 MHz/1843 – 1855.5 MHz และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล(International Mobile Telecommunications – IMT) ย่านความถี่ 1710 – 1785/1805 – 1880 Mz เพื่อเห็นชอบก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั้งสองฉบับ โดยสรุปแนวทางการประมูลคลื่น 1800 จำนวน 2 ชุดๆละ 2x12.5 MHz การประมูลจะเริ่มต้นที่ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุดซึ่งมีราคา 11,600,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหกร้อยล้านบาท) หากในกรณีที่ผู้เข้าร่วมการประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่จะอนุญาตให้ใช้ การประมูลจะเริ่มต้นที่ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุดซึ่งมีราคา 16,575,000,000 บาท รวมถึง ประเด็น ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในสี่ปีนับจากวันที่ได้รับอนุญาต ซึ่งตัวเลขของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหิดล ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2556 มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองร้อยละ 45.9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การขยายโครงข่ายในอีกสี่ปีข้างหน้ายังไม่สามารถครอบคลุมประชากรทั้งหมดในเขตเมือง ซึ่งในกรณีการประมูล 3 จี ได้มีการกำหนดเป็นขั้นบันได โดยจะให้บริการครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปี ซึ่งใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีระยะเวลาการอนุญาตประมาณ 18 ปี ...